วิบากคือทุกขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส
ไม่ทราบวันนี้ยังมีข้อสงสัยอะไรอื่นอีกไหมคะในเรื่องที่ได้ฟังแล้ว
ในคราวก่อนกล่าวถึงอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิต ประการที่ ๓ มีข้อความที่ว่า “ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก”
เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่เห็นยาก เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำที่สำเร็จแล้ว เสร็จสิ้นแล้วในอดีต แล้วก็ให้ผลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณาสภาพธรรมที่เป็นวิบากให้ละเอียดขึ้นว่า ธรรมชาติที่เป็นวิบาก ได้แก่ นามธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปนี้ เวลาที่มีใครประสบเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด แล้วมักจะพูดว่า เป็นกรรมของคนนั้น ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจจริง ๆ แล้ว ควรจะบอกว่า เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วของบุคคลนั้น จะทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นกรรม
เพราะว่าถ้าพูดสั้น บางคนที่ไม่คุ้นเคยกับธรรมก็จะเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน เอากรรมมาเป็นวิบาก หรือว่าเอาวิบากนั่นเองเป็นกรรม
แต่การศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เป็นจิต ซึ่งเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก จะทำให้เห็นชัดตามความเป็นจริงว่า ถ้าปราศจากทวาร คือ ทางรับอารมณ์ต่าง ๆ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายจะไม่มีวิบากเกิดขึ้นรับผลของกรรมเลย ใช่ไหมคะ ถ้าไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ก็ย่อมไม่มีทางที่จะรับผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจสภาพของธรรมที่เป็นวิบาก ที่เป็นผลของกรรมให้ชัดเจน ก็จะต้องระลึกรู้ในขณะที่มีการเห็น วิบาก คือ ในขณะที่เห็น เวลานี้ยังไม่มีการประสบเหตุการณ์ใด ๆ เป็นอุบัติเหตุ หรือว่าลาภ ยศ อะไรก็ตามแต่ แต่ว่าเป็นชีวิตปกติประจำวัน เพราะฉะนั้นขณะใดที่เห็นให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ชีวิตประจำวันเกิดขึ้น พิเศษต่างหากไปจากชีวิตปกติชีวิตประจำวัน หรือแม้ว่าในขณะที่เป็นชีวิตปกติประจำวัน ตามธรรมดา ๆ อย่างเวลาที่ตื่นขึ้น ก็มีการเห็น มีการได้ยิน ต้องไม่ลืมว่า เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม อย่าไปคิดถึงว่า เป็นวิบากเฉพาะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าได้ลาภ หรือว่าเสื่อมลาภ หรือว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์เท่านั้น
แต่ว่าถึงแม้เหตุการณ์เป็นปกติ การเห็นตามธรรมดา การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ขณะนั้นทั้งหมด สติสามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นวิบากจริง ๆ มิฉะนั้นแล้วท่านก็จะถือว่า เหตุการณ์ใหญ่ ๆ เป็นวิบาก อย่างเวลาที่ประสบอุบัติเหตุ ท่านก็บอกว่า เป็นกรรม ความจริงเป็นผลของกรรม ทางไหน ไม่มีการแยกออกเลย รวม ๆ กันว่า เป็นผลของอดีตกรรม แต่ว่าการที่จะเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้ว่า วิบากทุกขณะที่เห็น ไม่ว่าจะเห็นอะไร จะเป็นอุบัติเหตุ หรือว่าเสื่อมลาภ หรือว่าได้ลาภ เป็นสุข เป็นทุกข์ ประการใดก็แล้วแต่
แต่ว่าไม่ว่าขณะใดก็ตามที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นวิบาก ขณะใดที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นวิบากเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามเหตุในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งยากแก่การที่จะรู้ได้ว่า เห็น ๆ อย่างนี้ เป็นผลของอดีตกรรมอะไร หรือว่าได้ยินเสียงระฆังบ้าง เสียงเด็กเล่นฟุตบอลบ้าง จะเป็นอดีตกรรมอะไร
เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ยากที่จะรู้ได้ แล้วก็เป็นอจินไตย คือ เป็นสิ่งซึ่งไม่ควรคิด เพราะเหตุว่าถ้าใครคิดก็จะไม่พ้นจากความบ้าและความเดือดร้อน เพราะคิดถึงสิ่งที่ไม่อาจจะรู้ได้ แต่ว่าวิบากมี ปรากฏ