วิถีจิตต่างจากชวนจิตอย่างไร


    ผู้ฟัง แล้ววิถีจิตต่างกับชวนจิตอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตที่ทำกิจภวังค์จะทำกิจอื่นไม่ได้เลย ทำภวังคกิจ จึงชื่อว่า ภวังคจิต และก็เป็นวิบากจิตที่ต้องทำภวังคกิจ แต่กรรมไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด และภวังคจิตเกิดเท่านั้น ไม่พอ ผลของกรรมต้องเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีแล้ว แต่ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ต้องได้ยิน ซึ่งจิตต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ภวังค์ต้องอาศัยทวาร อาศัยรูปซึ่งเป็นทางที่จะทำให้จิตรับรู้รูปนั้นๆ ซึ่งเป็นผลของกรรม เหตุใดเรามีตา สำหรับเห็น มีตานี่สำหรับเห็น ไม่ใช่สำหรับทำอย่างอื่นเลย แล้วเหตุใดต้องเห็น กรรมทำให้เห็น

    เพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้ว่า ที่เราใช้คำว่า กรรม คำว่าวิบาก คำว่ากิเลส ทุกอย่างที่ได้ยินก็คือในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่กรรมที่ได้กระทำแล้วหนึ่งกรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดหนึ่งขณะเท่านั้น เพราะปฏิสนธิจิตคือขณะที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจะมีจิตที่ทำปฏิสนธิกิจในชาติหนึ่ง ๒-๓ ขณะไม่ได้เลย ต้องขณะเดียว เมื่อดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันนั้นเอง เพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกันนั้นเองเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยทำภวังคกิจ แต่ว่าแค่นั้นไม่พอใช่ไหม ผลของกรรม ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น กรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดเป็นสมุฏฐาน และก็เป็นสมุฏฐานให้โสตปสาท (หู) เกิด สามารถที่จะกระทบกับเสียง กรรมเป็นปัจจัยให้ฆานปสาทรูปเกิดสำหรับกระทบกลิ่น กรรมเป็นปัจจัยให้ชิวหาปสาทรูปเกิดสำหรับกระทบรส กรรมเป็นปัจจัยให้กายปสาทรูปเกิดซึมซาบอยู่ทั่วกายเป็นปัจจัยให้รู้สิ่งที่กระทบกาย นี่คือการรับผลของกรรม ยังจะต้องรับต่อไปไม่สิ้นสุด สังสารวัฏฏ์ ชาติก่อนก็คืออย่างนี้ ชาตินี้ก็อย่างนี้ ชาติหน้าต่อไปก็เป็นอย่างนี้ โดยที่ไม่รู้ความจริงว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือเป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ไม่ใช่เราเลย เป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นเมื่อมีการรับผลของกรรมแล้ว

    ที่ทุกคนเกิดเพราะว่ายังมีกิเลส ถ้าไม่มีกิเลส ดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ ปฏิสนธิจิตไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีกิเลสอยู่ หลังจากเห็นแล้ว กิเลสเกิดได้แล้วใช่ไหม อกุศลจิตเกิด โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต หมายความว่าจิตที่เป็นอกุศลขณะนั้นเกิดร่วมกับอวิชชา โมหะ (ความไม่รู้) ขณะใดมีความไม่รู้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ถ้าไม่รู้แล้วยังชอบ ยังติดข้อง ขณะนั้นไม่มีเพียงโมหเจตสิกซึ่งเป็นโมหเหตุ แต่ยังมีโลภเจตสิกเป็นโลภเหตุเกิดร่วมด้วยรวมเป็น ๒ เหตุ เพราะความไม่รู้จึงชอบ สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่รู้ว่าเป็นเพียงผลของกรรมที่ทำให้เห็น แล้วก็ดับ แต่ไปติดแล้วเพราะมีกิเลส ก็ทำให้ติดข้องในสิ่งที่เห็น เป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง ก็เป็นวงของสังสารวัฏฏ์ เป็นการหมุนวนไปของสังสารวัฏฏ์ กิเลส กรรม วิบาก เมื่อมีวิบากแล้วก็ยังมีกิเลส และก็มีกิเลส และก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมต่อไป และก็เป็นเหตุให้วิบากเกิดอีก ชีวิตประจำวันเดี๋ยวนี้เอง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73


    หมายเลข 7032
    20 ม.ค. 2567