อนิฏฐารมณ์


    ผู้ฟัง ฟังแล้วรู้ แต่ไม่เข้าใจ กุศลกับอกุศลต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เสียงมีหลากหลายไหม เสียงเบาๆ น่าฟัง ชอบฟังใช่ไหม เสียงดังๆ เสียงฟ้าร้อง เสียงระเบิด ฟังแล้วตกใจใช่ไหม เพราะฉะนั้นเมื่อเสียงต่างกันอย่างนี้ จะให้เป็นเสียงเดียวเหมือนกันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราจะเรียกความต่างของเสียง ซึ่งต่างกันว่า เสียงหนึ่งน่าพอใจ ฟังแล้วก็ไม่เดือดร้อน อีกเสียงหนึ่งไม่น่าพอใจ ตามลักษณะของเสียงนั้น ภาษาบาลีเสียงที่น่าพอใจก็เป็นอิฏฐารมณ์ เสียงที่ไม่น่าพอใจก็เป็นอนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้นลักษณะของเสียงเป็นอย่างนั้น แล้วใคร เมื่อไหร่ จะได้ยินเสียงอะไร เลือกไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าถึงกาละที่กรรมใดสุกงอมพร้อมจะให้ผลทางทวารไหนด้วย บางคนอาจจะทำอกุศลกรรมทางฆานทวาร ชิวหาทวาร ก็แล้วแต่ว่าถึงกาละที่กรรมนั้นจะให้ผล ทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้นโดยต้องรู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ จิตเป็นสภาพรู้ จิตจะไม่รู้ไม่ได้เลย ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นต้องรู้ แต่ขณะใดที่รู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม และจิตที่รู้สิ่งที่ไม่น่าพอใจนั้นก็เป็นวิบากจิต

    คำว่า “วิบากจิต” นั้นแสดงว่าจิตนั้นเป็นผลของกรรม ไม่ว่าจะเป็นวิบากอะไรทั้งสิ้นชื่อว่าเป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรม ซึ่งต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือเป็นผลของกุศลกรรมชื่อว่า “กุศลวิบาก” ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ชื่อว่า “อกุศลวิบาก” เพราะฉะนั้น เราจะเรียกสั้นๆ ว่าอกุศลไม่ได้ เพราะอกุศลเป็นเหตุ วิบากเป็นผล ถ้าเป็นวิบากจะเรียกว่าเป็นอกุศลไม่ได้ ต้องเรียกว่า “อกุศลวิบาก” หมายความถึงจิตนั่นเองเกิดขึ้นโดยกรรมเป็นปัจจัยให้จิตนี้เกิด ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเห็น ไม่เห็นก็ไม่ได้ ต้องเห็นเพราะว่าเป็นผลของกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจก็เป็นกุศลวิบาก เพราะว่าเป็นผลของกุศลกรรม เลือกไม่ได้เลย นี่คือ อนัตตา และธรรม ซึ่งเราจะต้องเข้าใจ ศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีให้เข้าใจถูกต้องขึ้น ในความเป็นธรรม และในความเป็นอนัตตา

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73


    หมายเลข 7035
    22 ม.ค. 2567