ใครจะตัดสินว่าเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์


    ผู้ฟัง ถามเรื่องอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ฟ้าร้อง ย่อมเป็นอนิฏฐารมณ์ใช่ไหม ถ้าของที่เป็นกลาง เช่น สมมติว่าทุเรียนอยู่ตรงนี้ ดิฉันก็รู้สึกชอบ ก็เป็นอิฏฐารมณ์ ส่วนคุณวีณาเหม็น ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้นทุเรียนจะมีลักษณะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ตรงตามตัวของเขา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเพื่อนคุณหมอกับคุณหมอชอบกลิ่นกระเทียมเจียว หลายๆ คน ไม่ชอบ แล้วคุณหมอจะตัดสินได้อย่างไรว่ากลิ่นนั้นเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง ก็คงจะต้องตัดสินว่าเป็นอนิฏฐารมณ์

    ท่านอาจารย์ กลุ่มหนึ่งชอบ แล้วอีกกลุ่มหนึ่งไม่ชอบ แล้วจะตัดสินหรือใครจะเป็นคนตัดสินว่ากลิ่นนั้นเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง ต้องนับเอากลุ่มใหญ่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้นก็ตามกลุ่ม ไม่ใช่ตามความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงใครเปลี่ยนไม่ได้ ถึงจะรู้ไม่ได้ก็ตาม เช่น คนที่ชอบกลิ่นบางประเภท เขารู้สึกพอใจในกลิ่นนั้น ทั้งๆ ที่กลิ่นนั้นไม่น่าพอใจเลยโดยลักษณะของกลิ่นนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราจะถือความเห็นหรือความคิดของเราหรือของกลุ่มใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวว่าอิฏฐารมณ์ต้องบอกด้วยว่าเฉพาะบางบุคคลที่ใช้คำนี้ แต่ไม่ใช่ไปเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นให้เป็นตามที่ว่า ถ้าลักษณะนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ แล้วคนไม่ชอบ เขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นอนิฏฐารมณ์ ไม่ดี ถึงเขาจะไม่ชอบ และเรียกว่าเป็นอนิฏฐารมณ์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้นแล้วที่คุณหมอถามถึงอย่างกลางดูเหมือนว่ามีอีกอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นมาอีกแล้ว คือ มีอิฏฐารมณ์ และ อนิฏฐารมณ์ และก็ยังมีกึ่งๆ กลางๆ ที่จะเป็นอิฏฐารมณ์หรือไม่ใช่อิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ใช่ไหม ความจริงไม่มี เพราะเหตุว่ากรรมมี ๒ อย่าง กุศลกรรม และ อกุศลกรรม มีกลางๆ ระหว่าง ๒ อย่างนี้ไหม ไม่มี ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ส่วนอกุศลกรรมจะมากจะน้อย จะแรงไม่แรง หรือกุศลกรรมจะแรงไม่แรงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่กุศลกรรมต้องเป็นกุศลกรรม กุศลกรรมจะไปเป็นอกุศลกรรมไม่ได้ และอกุศลกรรมก็ต้องเป็นอกุศลกรรม อกุศลกรรมจะไปเป็นกุศลกรรมไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิบากที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมนี่แน่นอน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็จะทำให้รู้อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายที่ไม่น่าพอใจ แต่ใครจะพอใจเป็นเรื่องของเขา แต่จะเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ แล้วจริงๆ แล้วจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกายก็เกิดก่อน กุศลจิต และอกุศลจิต ชอบหรือไม่ชอบนี่เป็นอกุศลจิตแน่นอน เป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต เพราะฉะนั้นเมื่อจิตอื่น คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ รู้อารมณ์ก่อนกุศลจิต และอกุศลจิต ขณะนั้นจะให้การชอบหรือไม่ชอบของเราไปตัดสินซึ่งจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ รู้ไม่ได้ อารมณ์นั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 73


    หมายเลข 7040
    22 ม.ค. 2567