ทวิปัญจวิญญาณเกิดก่อนชอบไม่ชอบ -พฐ.74


    อ.กุลวิไล รูปที่เป็นอารมณ์ที่ดีหรืออารมณ์ที่ไม่ดี เช่น พริก พริกนี่เผ็ด แต่ถ้าผู้ที่ชอบพริก ลองสังเกตุเวลาที่เราบริโภคอาหาร พริกนี่มีลักษณะร้อน ถ้ากายวิญญาณเกิดขึ้นขณะนั้น เวทนาต้องเป็นทุกขเวทนาแน่นอน แต่เนื่องจากธรรมเป็นปริตตธรรมเกิดเล็กน้อยมาก เมื่อเราบริโภคอาหารไม่ใช่มีรสพริกอย่างเดียว จะมีเปรี้ยว หวาน เค็ม ประกอบด้วย เราก็จะไปติดในรสชาติอื่นประกอบด้วยกัน โดยที่จริงๆ แล้วถ้าพริกที่เผ็ด โดยสภาพธรรมแล้วต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีเพราะว่าทำให้เกิดความเร่าร้อนเผ็ด

    ท่านอาจารย์ ปัญหานี้จะหมดไปได้เมื่อไม่ลืมว่าจักขุวิญญาณเกิดก่อนชอบไม่ชอบ โสตวิญญาณก็เกิดก่อนชอบไม่ชอบ และก็ขณะที่เป็นกุศลวิบาก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางไหนก็ตามก็ต้องเป็นอิฏฐารมณ์ เพราะขณะนั้นกุศลวิบากเกิดขึ้นรู้อิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาเลยใช่ไหม ใครจะไปเปลี่ยนลักษณะของรูปก็ไม่ได้เพราะว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็รู้รูปนั้นก่อน การที่เราจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เราจะรู้อะไร จะรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจหรือว่าจะรู้อะไร รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจนี่ก็ดับเร็วมาก เพียงลักษณะที่เป็นรูปก็ยังไม่ได้รู้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะต้องไปคิดว่ารูปนั้นก็เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ ก็เพียงแต่ว่าให้มีความเข้าใจในลักษณะที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมซึ่งต่างกัน มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงเป็น "เรา" ที่รู้รูป หรือว่ารูปนั้นเป็นเราก็ได้ ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74


    หมายเลข 7042
    20 ม.ค. 2567