จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย


    ผู้ฟัง จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยหมายถึงจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ยินคำว่าเหตุก็ต้องทราบว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ และมี ๖ โดยเป็นอกุศลเหตุ ๓ และโสภณเหตุ ๓ เพราะว่าจริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่น่าจะพิจารณาถึงความสำคัญว่าเหตุใดจิตบางประเภทไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย และบางประเภทมีเหตุเกิดร่วมด้วย ซึ่งเหตุที่จะเกิดร่วมด้วยมีตั้งแต่ ๑ เหตุฝ่ายอกุศล และก็ ๒ เหตุทางฝ่ายอกุศล แต่ถ้าทางฝ่ายกุศลจะไม่มี ๑ เหตุเลยมี ๒ เหตุ กับ ๓ เหตุ ซึ่งก็คงจะได้ทบทวนไปบ้างแล้ว แต่ก็จะได้ทราบถึงความสำคัญว่าต่างกันอย่างไร จิตที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตที่ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งความจริงทุกอย่างที่เกิด และดำรงสืบต่อไปอีกยาวนานต้องอาศัยเหตุ แต่จิตเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเป็นจิตประเภทที่เป็นวิบาก ๑๕ ประเภท แล้วก็เป็นกิริยาจิต ๓ ประเภท รวมเป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยทั้งหมด ๑๘ ประเภท จะใช้คำว่า ๑๘ ประเภทหรือ ๑๘ ดวงก็ได้ ซึ่งก็ได้ศึกษามาแล้ว คือ เป็นวิบาก ๑๕ ประเภท และเป็นกิริยา ๓ เป็นชีวิตประจำวันซึ่งควรจะได้ทราบว่าขณะใดไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย และขณะใดมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ซึ่งครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงตั้งแต่นอนหลับจนกระทั่งตื่นว่าแม้หลับก็เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นวิบากที่เป็นผลของกรรมที่สืบต่อมาจากปฏิสนธิที่ทำกิจภวังค์ ก็จะมีทั้งที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ตรงนี้เข้าใจได้ใช่ไหม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมเป็นเหตุให้อกุศลวิบากปฏิสนธิ ขณะนั้นไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำแล้วจะให้ผลเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุกับวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ลองคิดดูว่า อย่างไหนจะดี วิบากประเภทไหนดี วิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ดี หรือวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ดี วิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ดี เพราะว่า "เหตุที่ดี" คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก สำหรับอกุศลเหตุเป็นอกุศลอย่างเดียว จะเป็นวิบากไม่ได้เลย

    เหตุ ๓ คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ เป็นอกุศลเหตุ เมื่อใดที่เกิดต้องเป็นอกุศลอย่างเดียว จะเป็นวิบากไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อพูดถึงวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ไม่ได้หมายความว่าเหตุนั้นคือ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศล เป็นชาติเดียวคือชาติอกุศล เป็นวิบากไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยหมายความถึงวิบากที่มี อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นระหว่างวิบากซึ่งมีเหตุเกิดร่วมด้วย กับวิบากซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย วิบากไหนจะดีกว่า

    ผู้ฟัง อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นเหตุที่เกิดร่วมด้วยกับฝ่ายดีใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นโสภณเหตุ เป็นเจตสิก ๓ ซึ่งเป็นโสภณ เพราะเกิดกับกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ วิบากที่ประกอบด้วยเหตุกับวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ให้เป็นความเข้าใจของเราเองว่าวิบากประเภทไหนดี โสภณ แปลว่าดีงาม เพราะฉะนั้น อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นโสภณเจตสิก เกิดเมื่อใดเป็นจิตประเภทที่ดีงาม แต่ดีงามนี่มี ๓ ชาติ คือดีงามที่เป็นผลของกรรมเป็นวิบาก ดีงามที่ไม่ใช่กรรม และผลของกรรมเป็นกิริยา และดีงามที่เป็นกุศล

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 74


    หมายเลข 7045
    22 ม.ค. 2567