อเหตุกจิต เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นผลของอดีตกรรม


    ผู้ฟัง เมื่อพิจารณาถึงอเหตุกจิตที่ว่าเป็นจิตไม่ประกอบด้วยเหตุ การเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็เป็นผลของอดีตกรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่เราได้ฟังมาเป็นเรื่องที่ท่านผู้รู้ ท่านได้กล่าว และได้แสดงโดยละเอียด แม้แต่ขณะที่เห็น ขณะนี้ก็เป็นผลของกรรม แต่จริงๆ แล้วความรู้ของเราต้องเริ่มที่เมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม สิ่งนั้นกำลังมีให้เข้าใจ เช่น เรื่องของอเหตุกจิต สเหตุกจิต ไม่ใช่ขณะอื่นเลย ขณะเดี๋ยวนี้เอง มีทั้งจิตที่เป็นอเหตุกะที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และมีทั้งจิตที่เป็นสเหตุกะที่ประกอบด้วยเหตุ เพียงแต่เราไม่ทราบแล้วก็แยกไม่ออก จนกระทั่งเราได้ศึกษา และได้ฟัง เราจึงสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าแท้ที่จริงการกล่าวถึงจิตโดยชาติต่างๆ หรือว่าโดยเหตุที่เกิดร่วมด้วยก็คือขณะนี้นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้ามาถึงขณะนี้เดี๋ยวนี้ ที่ทุกคนเห็น มีใช่ไหม เราเรียนแล้วใช่ไหมว่าไม่ใช่เราแต่เป็นจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกันทำกิจหนึ่ง เพราะว่าจิต และเจตสิกทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไป ไม่มีใครทำ แต่มีความหลงเข้าใจผิดว่าเป็นเรามาตลอด นานมาก จนกระทั่งว่าเป็นธรรมที่เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ ที่กำลังเห็นขณะนี้เป็นอเหตุกจิต เพราะว่าแค่เห็นใช่ไหม แค่เห็นจริงๆ คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วดับ นั่นคือ จักขุวิญญาณเป็นจิตชาติวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่าเราเลือกไม่ได้ ไม่มีใครเลือกเลยว่าจะเห็นอะไรใช่ไหม แต่ถึงกาละที่กรรมใดจะให้ผลทางไหน จะให้ผลทางตา ก็คือ จิตเห็นเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นผลคือ "วิปากะ" ในภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็ใช้คำว่าวิบาก เมื่อที่ได้ยินคำว่าวิบากก็เข้าใจได้ทันทีว่า หมายความถึงจิต และเจตสิกซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ต้องเรียกชื่อเต็มว่า "กุศลวิบาก" ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมต้องเรียกจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรมว่า "อกุศลวิบาก" ขณะนี้เป็นวิบากจิตหรือไม่ขณะที่กำลังเห็น "เป็น" เป็นอเหตุกะด้วย เพราะเหตุว่าเพียงแค่เห็นแล้วดับ ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยเลย แต่หลังจากนั้นแล้วทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยนัยของพระอภิธรรมว่า ขณะที่จิตเห็นจะเกิดขึ้น ต้องมีกิริยาจิตซึ่งเป็นอเหตุกะด้วย คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพียงแต่รู้ว่ามีอารมณ์กระทบทางทวารไหน เช่น ทางตา จักขุทวาราวัชชนจิต หมายความถึง จิตขณะแรกที่เป็นวิถีเกิดรู้ว่าอารมณ์กระทบแต่ว่ายังไม่เห็น จึงเป็นกิริยาจิต เพราะว่าสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทาง ไม่ใช่ว่าเฉพาะวิบาก

    ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็รู้เฉพาะอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นกุศลวิบากก็รู้เฉพาะอารมณ์ที่น่าพอใจ อกุศลวิบากเกิดขึ้นจะไปรู้อารมณ์ที่น่าพอใจไม่ได้ และเมื่อกุศลวิบากเกิดขึ้นก็จะไปรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ที่เกิดที่เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจกระทบกับจักขุปสาท ผู้นั้นมีกรรมที่เป็นเหตุที่ได้กระทำแล้วที่จะทำให้ผลคือจิตเห็นเกิดขึ้น หรือจิตได้ยินเกิดขึ้น หรือจิตได้กลิ่นเกิดขึ้น หรือ จิตลิ้มรสเกิดขึ้น หรือ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ตลอดทั้งวันมีทั้งอเหตุกะ และสเหตุกะ ถ้ามีความเข้าใจจิตที่เป็นประเภทอเหตุกะ ๑๘ ประเภท ต่อไปจะเข้าใจง่ายว่า จิตอื่นทั้งหมดเป็นสเหตุกะ ต้องประกอบด้วยอกุศลเหตุหรือกุศลเหตุ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไปไม่ใช่จิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นผลของกรรมในวันหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่าขณะใดที่เห็นก็เลือกไม่ได้ มีกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น เมื่อได้ยินขณะนี้เลือกได้หรือไม่ จะได้ยินเสียงนกเลือกได้หรือไม่ เลือกไม่ได้เลย จะได้ยินเสียงพัดลมก็เลือกไม่ได้เลย แล้วก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วคือเกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย

    ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดไม่รู้ ขณะนั้นก็จะไม่เห็นความเป็นธรรมที่เป็นเพียงธาตุที่เกิดขึ้นได้ยิน เกิดขึ้นเห็น เกิดขึ้นรู้กลิ่น เกิดขึ้นลิ้มรส เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะว่าเร็วมากสั้นมากกับผลของกรรมที่เป็นวิบาก

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76


    หมายเลข 7059
    12 ก.ย. 2567