อเหตุกวิบาก ๑๕ อเหตุกกิริยา ๓
จักขุวิญญาณ ๒ คือกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณ ๒ ฆานวิญญาณ ๒ ชิวหาวิญญาณ ๒ กายวิญญาณ ๒ รวมเป็น ๑๐ แล้ว มีใครไม่รู้ เหลืออีก ๕ ก็ไม่ยากเลย จิตที่เกิดต่อคือสัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เป็น ๑๒ แล้ว เหลืออีก ๓ ก็คือสันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบาก ๑ เป็นกุศลวิบาก ๒ จบเรื่องของอเหตุกวิบาก ในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้ต่อจากนั้นแล้วเป็นสเหตุกะทั้งหมด คือ เป็นสเหตุกวิบาก หรือ เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล ถ้าไม่กล่าวถึงกิริยา เพราะว่าจริงๆ แล้ว อเหตุกกิริยาคือกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะซึ่งก่อนที่วิถีจิตจะเกิด จิตจะต้องเป็นภวังค์ก่อน เพราะฉะนั้นภวังค์ทั้งหมดไม่ใช่วิถีจิต
แต่หลังจากภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์สุดท้ายดับแล้ว วิถีจิตต้องเกิด เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตที่เกิดไม่ใช่วิบากเลย เพราะสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทางทวารทั้ง ๕ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกิริยาจิต ซึ่งยังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยิน เกิดแล้ว รู้แล้วว่าอารมณ์กระทบ นั่นคือกิริยาจิต ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และ มโนทวาราวัชชนจิตอีก ๑ เป็นจิตที่คิดนึกทางใจ เพราะถึงแม้ว่าเราไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เราคิดนึก แต่ไม่ใช่เรา ถ้าจิตนี้ไม่เกิดก็เป็นภวังค์ แต่ถ้าเกิดรู้อารมณ์ทางใจเมื่อใด วิถีจิตแรกต้องเป็นกิริยาจิตที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิต
เพราะฉะนั้นกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะมี ๓ ดวง เพื่อที่จะให้ไม่ลืมจำนวนของอเหตุกะ แล้วก็รู้ว่าเรามีเท่าไหร่ เรามีอเหตุกวิบากครบไหม ๑๕ ดวง ๑๕ ประเภท ใครขาดอันไหนบ้างไหม ๑๐ ดวงนี่ไม่ขาดแน่ เมื่อ ๑๐ ดวงไม่ขาด สัมปฏิจฉันนะต้องมีเกิดต่อ ๒ ดวง สันตีรณะ ๓ ดวงก็ต้องเกิดต่อ แต่ทีละหนึ่งไม่ใช่ ๓ ดวงมาเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นทุกคนมีอเหตุกวิบากครบ ๑๕ แต่สำหรับอเหตุกกิริยา ๓ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรกก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ต้องมีทุกคนใช่ไหม พระอรหันต์มีไหม เรามีไหม สัตว์มีไหม เปรตมีไหม ก็ต้องมีทั้งนั้น
ถ้ากล่าวถึงธรรม ไม่มีชื่อเลย ไม่ต้องเรียกอะไรเลย เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างไร ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงตามประเภทของธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ต้องมีกิริยาจิตที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต และสำหรับมโนทวาราวัชชนจิต จริงๆ แล้วเป็นจิตประเภทเดียวกับจิตที่เกิดต่อจากสันตีรณจิต เพราะเหตุว่าเพียงแค่เห็นแต่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเลยใช่ไหม หลังจากเห็นแล้วก็จะมีโลภะ หรือ โทสะ หรือ โมหะ เป็นอกุศลเกิดขึ้น หรือเป็นกุศล แล้วแต่การสะสมเลือกไม่ได้เอง เพราะฉะนั้นเมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร จะใช้คำว่าตัดสิน หรือจะใช้คำว่ากระทำทาง หรือทำให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่เพระอรหันต์ แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว หลังเห็นแล้วจิตก็เป็นกิริยา จะไม่เป็นกุศล และอกุศลเลย นี่คือความต่างกันของผู้ที่ดับกิเลสหมดเป็นสมุทเฉท กับผู้ที่แม้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคลก็ยังเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับอกุศลหมด
แต่สำหรับพระอรหันต์ หลังจากเห็นแล้วจะต่างกับบุคคลอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ไม่มีเชื้อของกิเลสที่จะทำให้อกุศล และกุศลเกิดได้เลย เพราะฉะนั้นหลังจากที่ปรินิพพานคือจิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับไป จึงไม่มีภพชาติอีกต่อไป แต่สำหรับเราต้องทราบจิตประเภทวิบาก อเหตุกะ ๑๕ แล้วก็กิริยาจิตเรามีเพียง ๒ คือปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าอเหตุกจิตอีกหนึ่งซึ่งเป็นกิริยาจิตเป็นเฉพาะพระอรหันต์ คือจิตที่ทำให้พระอรหันต์มีการแย้มหรือการยิ้ม ซึ่งต่างกับปุถุชน เช่นเรา ยิ้มเมื่อใด ส่วนใหญ่ยิ้มเมื่อชอบใจ ใช่ไหม และถ้าเป็นกุศลเราก็เบิกบานด้วยเหมือนกัน แต่ให้สังเกตดูความเบิกบานในทางกุศลของเรากับในทางอกุศล ลักษณะต่างกัน เบิกบานในทางอกุศล สนุก ติด แล้วก็สวย อะไรๆ ทุกอย่าง เพราะ อะไรทุกอย่างที่เป็นเรื่องของขณะนั้นเราไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงประกอบด้วยอกุศลเจตสิก แต่ว่าเบิกบานอยู่ในอกุศล เพราะว่าเราคุ้นเคย และชินมาก
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ความละเอียดของจิต เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตประจำวันก็มีทั้งอเหตุกจิต สเหตุกจิต แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง และก็แม่นยำที่จะเข้าใจได้ไม่คลาดเคลื่อนว่าอกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะมีเพียง ๗ กุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะมี ๘ รวมเป็น ๑๕ กิริยาจิต ๓ เราก็มีเพียง ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าเราไม่ใช่พระอรหันต์จึงไม่มีหสิตุปาทจิต ยิ้มได้แต่ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน อาการภายนอกเหมือนกันได้ความเบิกบาน แต่จิตต่างกันมาก นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราเข้าใจชีวิตประจำวันก็จะไม่ลืมเลย เมื่อถามว่า เห็นเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุหรือไม่ประกอบด้วยเหตุ ตอบได้แล้วใช่ไหม ยังไม่ประกอบด้วยเหตุแค่เห็น จิตได้ยินประกอบด้วยเหตุหรือไม่ ยังไม่ประกอบด้วยเหตุ แค่ได้ยินใช่ไหม และก็ตามมาด้วยวิบากที่เป็นสัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะ แล้วก็เข้าใจเรื่องของกิริยาจิต ก็จบเรื่องของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง
ที่มา ...