เหตุใดอุเบกขาสันตีรณจิตจึงทำได้ ๕ กิจ


    อ.กุลวิไล เรียนถามท่านอาจารย์ถึงความต่างกันระหว่างสันตีรณกิจที่เป็นอุเบกขาสันตีรณกิจที่เป็นฝ่ายกุศลที่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ที่พิการแต่กำเนิด หรือว่าโสมนัสสันตีรณกิจที่ทำกิจเพียง๒ กิจเท่านั้นก็คือสันตีรณกิจ และตทาลัมพนกิจ แต่ถ้าเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำได้ถึง ๕ กิจซึ่งรวมทั้งปฏิสนธิ ภวังค์ จุติด้วย จะเรียนถามท่านอาจารย์ถึงเหตุใดอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจึงทำได้ ๕ กิจ แต่โสมนัสสันตีรณะจึงทำได้เพียง ๒ กิจ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นก็ต้องทราบว่า เวลาที่อกุศลกรรมให้ผลทำให้อกุศลวิบาก ๗ ประเภทเกิดคือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก กายวิญญาณอกุศลวิบาก ๕ ประเภทแล้วใช่ไหม เหลืออีก ๒ จิต ๕ ดวงทำปฏิสนธิกิจได้ไหม เพราะว่าผลของกรรมต้องทำให้เกิดด้วย ต่างกับเวลาที่เป็นมนุษย์หรือเกิดในภูมิที่สูงขึ้นไปก็จะประณีตขึ้น แต่ว่าสำหรับกรรมที่เป็นอกุศลที่ทำแล้ว ถ้าไม่ให้ผลทำให้เกิดก็ดีใช่ไหม แต่เพราะว่ามีภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของอกุศลกรรม เกิดเป็นเปรต เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นอสูรกาย ชื่อว่าอบายภูมิ ๔ เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นต้องมีจิตหนึ่งซึ่งเป็นวิบากทำปฏิสนธิกิจ ในบรรดาอกุศลวิบาก ๗ ดวง ๕ดวงนี้ทำไม่ได้แล้วใช่ไหม และสำหรับสัมปฏิจฉันนะก็เกิดสืบต่อจากจิต ๕ ดวงนี้ เมื่อจักขุวิญญาณเกิดทำกิจเห็น เกิดที่จักขุปสาทรูป แล้วมีสัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ เกิดที่หทยวัตถุ สันตีรณะก็เกิดที่หทยวัตถุด้วย ไม่ใช่เกิดเป็นจักขุวิญญาณ

    เพราะฉะนั้น ในบรรดาอกุศลวิบาก ๗ ดวง เฉพาะสันตีรณอกุศลวิบากที่ทำปฏิสนธิกิจ เพราะว่าเกิดที่ฐานที่ได้มีกำลังแล้ว เพราะเหตุว่าได้เกิดเป็นขณะที่ไม่ใช่ต่อจากจิตที่เกิดทางจักขุปสาท หรือโสตปสาท เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสำหรับอกุศลวิบาก ๗ ดวง อุเบกขาสันตีรณะ ๑ ทำหน้าที่ปฏิสนธิในอบายภูมิ ๔ ไม่ว่าจะเป็นนรกขุมไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์ประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดเป็นเปรตมีรูปร่างตามกรรมที่ได้กระทำมาอย่างไรก็ตาม รวมทั้งอสุรกายซึ่งเป็นอบายภูมิด้วย เพราะเหตุว่าอบายภูมิมี ๔ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเราคงไม่มีปัญญาเกินกว่านี้ที่จะไปสามารถหาเหตุผลได้ว่า เมื่อมีอกุศลวิบาก ๗ สันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ เมื่อทำปฏิสนธิแล้วก็ทำภวังคกิจด้วย เพราะว่าจิตใดก็ตามที่เกิดแล้วทำปฏิสนธิกิจดับไปแล้ว วิบากจิตนั้นไม่เปลี่ยนเลย ต้องเป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตที่จะทำกิจภวังค์ดำรงภพชาติไปจนกว่าจะสิ้นความเป็นบุคคลนั้น

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เกิดในอบายภูมิ ๔ ปฏิสนธิจิตก็เป็นอุเบกขาสันตีรณะ ภวังค์ก็เป็นอุเบกขาสันตีรณะ ก็ไม่มีที่สงสัยใช่ไหม แต่เมื่อถึงผลของกุศลกรรม กุศลกรรม เช่น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญามีกำลังเป็นปัจจัยให้มหาวิบาก หรือจะใช้คำว่า "กามาวจรวิบาก" ก็ได้ เหตุที่เราใช้คำว่ากุศล ไม่ใช่ระดับที่สูงกว่ากามาวจรกุศล ซึ่งเป็นกุศลที่เป็นไปทั้งทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ เป็นไปในทานก็ได้ ในศีลก็ได้ ในความสงบของจิตก็ได้ ในการอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ได้ เป็นกุศลที่กว้างขวางมาก เพราะฉะนั้น กามาวจรกุศลก็มีอีกชื่อหนึ่งคือ “มหากุศลบางคนได้ยินคำว่ามหากุศล แล้วคิดว่ากุศลนี้ใหญ่มากเพราะมีคำว่า "มหา" แต่ความจริงหมายความถึงกว้างขวางมากเป็นไปได้ทุกทวาร

    เพราะฉะนั้น สำหรับผลของกุศลก็จะทำให้วิบากที่เป็นกามาวจรวิบากซึ่งเป็นสเหตุกวิบาก และอเหตุกวิบากเกิด เพราะเหตุใด เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อทำแล้วต้องเป็นปัจจัยให้วิบากเกิดทางอกุศลกรรมที่ทำให้อกุศลวิบากเกิดโดยไม่มีเหตุประกอบฉันใด ทางฝ่ายกุศลกรรมก็สามารถที่จะเป็นปัจจัยทำให้วิบากซึ่งเป็นอเหตุกะยังไม่ประกอบด้วยเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงอกุศลวิบาก ๗ และกุศลวิบาก ๘ ที่เป็นอเหตุกะ ก็ทราบได้เลยว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วทางฝ่ายอกุศลต้องให้ผลเป็นอเหตุกวิบากฉันใด กรรมที่เป็นฝ่ายกุศลให้ผลก็เป็นกุศลวิบากจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุด้วย แต่ยังให้ผลประกอบด้วยเหตุด้วย เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายกุศลก็จะให้ผลเป็นทั้งอเหตุกกุศลวิบาก และสเหตุกกุศลวิบาก ถ้าเป็นอเหตุกกุศลวิบากสันตีรณะ ทำกิจปฏิสนธิ ได้ ๒ ภูมิ คือ มนุษย์หรือสวรรค์ชั้นต่ำคือจาตุมหาราชิกา จะไม่ให้เกิดในสวรรค์ชั้นอื่น เช่น ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา หรือ ชั้นสูงขึ้นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ถ้าเป็นผลของกุศลที่มีกำลัง ก็จะเป็นหน้าที่ของมหาวิบาก หรือ กามาวจรวิบากดวงหนึ่งดวงใดที่เป็นสเหตุกะ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า วิบากที่เป็นอเหตุกะก็ไม่เท่ากับวิบากที่เป็นสเหตุกะ เพราะว่าวิบากที่เป็นสเหตุกะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่วิบากที่เป็นอเหตุกะที่เป็นกุศลวิบากไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีความต่างของผู้ที่ปฏิสนธิที่เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิดกับผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด จิตที่เป็นกุศล และอกุศลไม่ใช่วิบาก แต่เป็นเหตุที่จะทำให้วิบากเกิด เมื่อจิตใดเป็นวิบากเกิด จิตนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว จิตนั้นจะเป็นเหตุไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นวิบากแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องทราบว่าวันหนึ่งๆ มีทั้งอเหตุกะ สเหตุกะ มีทั้งวิบากจิต มีทั้งกิริยาจิต มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต เพียงแต่เราจะต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นอเหตุกะ และขณะใดเป็นเหตุที่เป็นกุศล และอกุศลที่จะเป็นกรรมที่จะทำให้วิบากเกิด ซึ่งวิบากที่จะเกิดก็มีทั้งวิบากที่เป็นอเหตุกะ และสเหตุกะ แล้วเราก็จะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าสับสนมาก ก็ลืมว่าเราควรจะเข้าใจอะไรให้แม่นยำถูกต้องตั้งแต่ต้น เช่น เรื่องของสันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธิ แค่นี้เราก็เข้าใจได้ว่า อเหตุกวิบากที่เป็นอกุศลวิบากมี ๗ ดวง โดยที่ ๖ ดวงไม่ทำกิจปฏิสนธิแน่ แต่ทางฝ่ายกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะยังสามารถทำกิจปฏิสนธิได้ เมื่อเป็นผลของกุศลที่มีกำลังอ่อน เพราะฉะนั้นก็เกิดได้ในสุคติภูมิ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลกรรม เช่นเดียวกับอกุศลวิบากที่เป็นสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิต้องปฏิสนธิในอบายภูมิ ฉันใด ทางฝ่ายกุศล คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากก็ต้องทำปฏิสนธิในสุคติภูมิแต่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพราะว่าเป็นอเหตุกะ นี่คือความต่างของปฏิสนธิที่ประกอบด้วยเหตุ และไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ผู้ฟัง ขอทราบสันตีรณะอีกดวงหนึ่งที่เป็นกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ โสมนัสสันตีรณะ ทำได้ ๒ กิจ คือ สันตีรณกิจ กับ ตทาลัมพนกิจ ซึ่งเรายังไม่กล่าวถึง ตอนนี้เรากล่าวถึงสันตีรณกิจ และ ปฏิสนธิกิจ

    ผู้ฟัง เหตุใดทำปฏิสนธิกิจไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าถึงขั้นโสมนัสก็ต้องเป็นหน้าที่ของกุศลที่สูงกว่านี้ ต้องเป็นมหาวิบาก กุศลที่ทำด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี กุศลที่กระทำด้วยโสมนัสเวทนาก็มี เมื่อกุศลที่ทำด้วยอุเบกขาเวทนายังทำให้เกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นโสมนัสก็ต้องยิ่งกว่านั้น เพราะฉะนั้นโสมนัสสันตีรณะไม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77


    หมายเลข 7065
    20 ม.ค. 2567