เจตสิกที่เป็นรากจริงๆ มีเพียง ๖


    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก ๗ และกุศลวิบาก ๘ ตรงนี้ถือว่าเป็นส่วนของรากแก้วตรงไหน หรือว่าเป็นผลของรากแก้วของต้นไม้นั้น

    ท่านอาจารย์ รากต้องเป็นเหตุ เป็นเจตสิก ๖ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเจตสิกจะมีถึง ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกที่เป็นรากที่มั่นคงจริงๆ ก็มีเพียง ๖ ประเภท เพราะฉะนั้นถ้าจิตใดเกิดโดยที่ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย จิตนั้นไม่มีรากแค่เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เป็นรากที่จะให้เกิดผลอื่นต่อไป

    ผู้ฟัง ถ้าจิตใดไม่มีรากก็เป็นจิตที่ดี

    ท่านอาจารย์ อ่อนมาก มีกำลังอ่อน ไม่สามารถที่จะทำให้มีผลคือวิบาก หรือ กิริยา เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง จิตใดที่ไม่มีผล เช่น กิริยาจิต หรือ วิบากจิตเกิดขึ้น ก็เป็นจิตที่ดีไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ "จิต" เท่านั้น ไม่ใช่ดีหรือชั่วเลย “ปัณฑระ” ลักษณะแท้จริงของจิตก็คือเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ หน้าที่ของจิตเป็นใหญ่ มนินทรีย์ รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างก็ทำกิจเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ แต่จะไม่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์เช่นกับจิต เพราะฉะนั้นจิตจะดีหรือจะชั่วแล้วแต่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้ากล่าวถึง "ดี" คือ ฝ่ายโสภณ ก็จะมีทั้งที่เป็นกุศล และกุศลวิบาก และกิริยา ที่เป็นสเหตุกะ ตอนนี้เราคงจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด เพียงแต่ให้ทราบว่าจิตที่เป็นเหตุกับจิตที่เป็นผล ถ้าเป็นกุศล และอกุศลเป็นตัวเหตุที่จะต้องให้เกิดผลขึ้น เมื่อถึงกาละที่สมควร พร้อมด้วยปัจจัยที่จะทำให้เหตุนั้นเกิดให้ผลเมื่อใด ผลก็ต้องเกิดเมื่อนั้น เช่น จิตเห็นเราไม่เคยรู้เลยว่าเป็นผลของกรรม ไม่รู้ว่าเป็นจิต คิดว่าเป็นเรา แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นจิตประเภทผล เกิดเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ด้วยเหตุนี้ทางฝ่ายอเหตุกจิต ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นการเกิดที่ประจวบกัน "อุปปัติเหตุ" ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ขณะนี้มีการเห็นเกิดขึ้น มีการได้ยินเกิดขึ้น มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ในขณะที่แม้วิบากอื่นนอกจากนี้ก็ยังมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่คือการแยกวิบากให้ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ วิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย กับ วิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 77


    หมายเลข 7068
    22 ม.ค. 2567