วิบากหมายเฉพาะนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมเป็นผลของกรรมแต่ไม่ใช่วิบาก


    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องของวิบากว่า หมายเฉพาะสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเท่านั้น ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระธัมมสังคินีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ ติกนิบาตเขปกถา เรื่องวิปากติกะ ซึ่งขยายความวิปากธรรม มีข้อความว่า

    เฉพาะนามธรรมที่มีอารมณ์เท่านั้น ตรัสเรียกว่า “วิบาก” เพราะเป็นเหมือนกับกรรม

    เหตุผลที่ว่า เวลาที่กรรมให้ผลทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกับรูป เฉพาะจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเท่านั้นที่เป็นวิบาก รูปเป็นผลของกรรมจริง แต่รูปไม่ใช่วิบาก เพราะเหตุว่านามธรรมที่มีอารมณ์เท่านั้น ตรัสเรียกว่า “วิบาก” เพราะเป็นเหมือนกับกรรม

    อุปมาเหมือนผลไม้ ซึ่งเหมือนกันกับพืช ฉะนั้น จริงอยู่ เมื่อพืชข้าวสาลีอันเขาหว่านแล้ว แม้ในเมื่อออกหน่อและใบเป็นต้นแล้ว เขาก็ยังไม่เรียกว่า “ผลข้าวสาลี” แต่เมื่อใดรวงข้าวสาลีเป็นของสุกงอมแล้ว เมื่อนั้นข้าวสาลีซึ่งเหมือนกับพืชนั่นแหละ เขาย่อมเรียกว่า “ผลข้าวสาลี” ดังนี้ ส่วนหน่อและใบ เป็นต้น เขาเรียกว่า “พืชอันบังเกิดแต่พืช” ดังนี้ แม้รูปก็เช่นนั้นเหมือนกัน ควรจะเรียกได้ว่า “กัมมชะ เกิดแต่กรรม”

    นี่เป็นความต่างกันของคำว่า “วิบาก” กับคำว่า “กัมมชรูป” ซึ่งเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดจิตซึ่งเป็นวิบาก และเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก และรูป แต่ว่ารูปนั้นไม่ใช่วิบาก แต่เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย จึงเป็น “กัมมชรูป” ได้แก่ รูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    สำหรับจิตและเจตสิกนั้นเป็นวิบาก เพราะเหตุว่าเหมือนกันกับกรรม โดยเป็นนามธรรมเหมือนกัน สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้เช่นเดียวกับนามธรรมซึ่งเป็นกรรม แต่ว่าเป็นผลของกรรม เพราะว่ารับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย


    หมายเลข 7095
    23 ส.ค. 2558