รูปไม่ใช่สัมปยุตธรรม ไม่เป็นสัมปยุตตปัจจัยเพราะเหตุใด
ผู้ฟัง ดิฉันสงสัยบางคำ ที่กล่าวว่า รูปจะเกิดร่วมกันก็จริง แต่ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย ดิฉันเคยได้พบข้อความที่บอกว่า ธาตุทั้ง ๔ นี้ไม่เคยแยกจากกันเลย ที่ใดมีธาตุดิน ที่นั้นก็มีธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุไฟ เพราะฉะนั้นจะต่างกับคำว่า “สัมปยุตต์” อย่างไร กล่าวทั้ง ๔ ธาตุ ที่ใดมีธาตุน้ำ ก็มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมที่ใดมีธาตุไฟก็มีธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ที่ใดมีธาตุลม ก็มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุดิน คำว่า สัมปยุตตปัจจัยนี้แตกต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า แม้รูปธรรมจะเกิดร่วมกันและต่างก็มีลักษณะของตนก็จริง อย่างเช่น ธาตุดินเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะแข้นแข็ง ถึงแม้ว่าจะมีธาตุไฟเกิดร่วมด้วยในที่นั้น ไฟก็ไม่ได้ไหม้ธาตุดิน ต้องแยกจากกันแม้ว่าเกิดร่วมกัน โดยที่ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า เป็นรูปที่ละเอียดแล้ว แต่โดยนัยของรูป ๒๘ รูปใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายซึ่งมีทั้งหมด ๗ รูปนั้น เป็นรูปหยาบ ไม่ใช่รูปละเอียด เพราะเหตุว่ายังปรากฏ ยังสามารถกระทบกับอายตนะ หรือปสาท แล้วก็มีการรู้เสียงทางหู ซึ่งจิตและเจตสิกจะไม่ปรากฏทางหู จะไม่ปรากฏทางตา จะไม่ปรากฏทางจมูก จะไม่ปรากฏทางลิ้น จะไม่ปรากฏทางกาย
เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ละเอียด และที่เป็นสัมปยุตตธรรม ก็เพราะเหตุว่าแม้ว่ารูปเกิดพร้อมกับรูป ดับพร้อมกันกับรูปก็จริง ก็ไม่ใช่สัมปยุตตธรรม เพราะเหตุว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน หรือร่วมกัน ละเอียดอย่างเดียวกัน เหมือนกับจิตกับเจตสิก ซึ่งนอกจากเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แล้วก็ยังรู้อารมณ์เดียวกัน นี่คือสภาพธรรมที่ต่างกันระหว่างรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สัมปยุตตธรรม และนามธรรมซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมเมื่อเกิดร่วมกันแล้ว ร่วมกันจริงๆ ไม่ใช่รูปสามารถแยกปรากฏแต่ละทวาร อย่างเช่นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ ขณะที่เกิดขึ้นจะมีอุปาทายรูปอีก ๔ เกิดร่วมด้วย คือ เกิดพร้อมกัน คือ สี กลิ่น รส โอชะ๘ รูปนี้ไม่แยกจากกันเลย ใช้คำว่า “อวินิพโภครูป” คือ รูปซึ่งไม่แยกจากกัน แต่แม้กระนั้นสีปรากฏทางตา แยกอาการที่ปรากฏ กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ปรากฏทางกาย แต่นามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดกว่านั้น แล้วก็สัมปยุตต์กันจริงๆ เพราะเหตุว่าแม้จะเกิดขึ้นแล้วดับไปโดยรวดเร็ว แต่ก็มีอารมณ์เดียวกัน คือ รู้อารมณ์เดียวกัน กระทำกิจในอารมณ์เดียวกัน นั่นคือความหมายของสัมปยุตตธรรม
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมถ้าศึกษาโดยละเอียด แล้วให้เป็นความเข้าใจที่ชัดเจนจริง ๆ ก็ไม่ต้องท่อง ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าในวันนี้ได้ยินคำว่า สัมปยุตธรรม ซึ่งหมายความถึงนามธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิกเท่านั้น และจิตและเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน จิตเป็นสัมปยุตปัจจัยให้เจตสิกที่เกิดร่วมกันเกิดขึ้น เจตสิกเป็นสัมปยุตปัจจัยให้จิตซึ่งเกิดร่วมกันเกิดขึ้น เป็นปัจจัยโดยปัจจุบัน หมายความว่า ปัจจัยและปัจจยุปบัน ธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้น เกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ละเอียดกว่ารูป เพราะเหตุว่ารู้อารมณ์เดียวกันและเกี่ยวข้องกัน
ผัสสะกระทบอารมณ์ใด เวทนารู้สึกในอารมณ์นั้นพร้อมกันทันที ไม่ได้แยกกันเลย เกี่ยวข้องกัน สัมปยุตกัน ถ้าผัสสะดับไป แล้วเวทนาเกิดขึ้น แล้วเวทนาจะรู้ในอารมณ์ที่กระทบได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเมื่อผัสสะกระทบแล้ว ดับไปแล้ว ถ้าเวทนาเกิดภายหลัง เวทนาจะไปรู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบดับไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเวทนาและผัสสะเกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เป็นปัจจัย คือ สัมปยุตตปัจจัยซึ่งกันและกัน
เพราะฉะนั้นเรื่องของปัจจัยก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังเป็น กำลังปรุงแต่ง เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น จะทราบหรือไม่ทราบก็ตามแต่ แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดดับอยู่ทุกขณะจิตนี้เป็นปัจจัย มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วก็แยกตามสภาพของธรรมนั้น ๆ เช่น รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม เพราะฉะนั้นรูปธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัมปยุตธรรม เพราะฉะนั้นไม่เป็นสัมปยุตปัจจัย