สัมปยุตตปัจจัย


    ท่านอาจารย์ ซึ่งลักษณะของจิต ซึ่งเป็นนามธรรมก็เป็นปัจจัยแก่เจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน โดยสัมปยุตตปัจจัย เพราะจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมนั้นเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โดยสัมปยุตตปัจจัย ซึ่งจะต้องเข้าใจความหมายด้วย เวลาที่ใช้คำว่า “สัมปยุตต์” ไมว่าจะเป็นสัมปยุตตธรรมหรือสัมปยุตตปัจจัยก็ตาม เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เป็นสภาพรู้เหมือนกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน และเกิดที่เดียวกัน ในภูมิซึ่งอาศัยรูปเกิดขึ้น จิตจะเกิดขึ้นตามลำพัง โดยไม่มีรูปเป็นที่เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าขณะใดที่จิตเกิดขึ้น สัมปยุตตธรรม คือ ธรรมชาติซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิตนั้นคือเจตสิก และเจตสิกเมื่อเกิดร่วมกับจิต เจตสิกแต่ละชนิดก็เป็นสัมปยุตตธรรม เป็นสัมปยุตตปัจจัยให้สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันนั้นเกิดร่วมกัน โดยเป็นธาตุรู้อารมณ์เดียวกัน

    นี่เป็นความต่างกันของรูปธรรมและนามธรรม เพราะเหตุว่ารูปธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จริง แต่รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ไม่รู้อารมณ์เลย แต่นามธรรมนั้นเป็นสภาพที่ละเอียดกว่า เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่มีรูปอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นสุขุมรูปที่ละเอียดสักเพียงไร ก็ไม่ใช่ลักษณะของนามธรรม เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้นั้น ไม่ปะปนกันเลยกับรูป แม้ว่ารูปนั้นจะเป็นสุขุมรูป

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจถึงอรรถของสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นเพียงอาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และในขณะที่จิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมกันเป็นสัมปยุตตธรรม


    หมายเลข 7142
    23 ส.ค. 2558