อรรถของจิตประการที่ ๔ ชื่อว่าจิตตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตธรรม


    อรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร วิจิตร คือต่างกันตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    มีเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่ว่าจิตดวงหนึ่ง ๆ ไม่ได้ประกอบด้วยเจตสิกพร้อมกันทั้ง ๕๒ ประเภท แล้วแต่ว่าอกุศลจิตจะประกอบด้วยอกุศลเจตสิกเท่าไร หรือว่ากุศลจิตจะประกอบด้วยโสภณเจตสิกเท่าไร ซึ่งก็ทำให้จิตต่างกันออกไปโดยประเภทต่าง ๆ ซึ่งในการศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียด ควรที่จะได้ทราบลักษณะที่ต่างกันของจิตโดยประเภทใหญ่ ๆ คือ

    โดยชาติ คือ การเกิดขึ้นมี ๔ ชาติ ตามที่ได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่ง คือ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑

    ในวันหนึ่ง ๆ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิตหรืออกุศลจิตเท่านั้นค่ะ มีวิบากจิตและกิริยาจิตด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า โดยปรมัตถธรรม ซึ่งแสดงจิตโดยชาติเภท คือ โดยประเภทของชาติ ไม่ได้หมายความถึงชาติชั้นวรรณะ หรือว่าชาติจีน ชาติไทย ชาติแขก แต่หมายความถึงจิตประเภทที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนกับใคร จิตนั้นเป็นกุศลถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ไม่ว่าจะเกิดกับสมณะชีพราหมณ์ ชาติชั้นวรรณะผิวพรรณใดทั้งสิ้น อกุศลก็เป็นอกุศล นั่นคือสภาพของปรมัตถธรรม เพราะประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เป็นอกุศลจิต จึงเป็นอกุศล หรือว่าประกอบด้วยโสภณเจตสิก จิตนั้นจึงเป็นกุศล


    หมายเลข 7143
    23 ส.ค. 2558