ปัญญาที่จะรู้ความต่างกันของจิตและเจตสิกมีอย่างไร
ผู้ฟัง ทีนี้มีปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง คือว่าเรื่องจิตกับเจตสิกนี้มันเกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดในที่ตั้งที่อาศัยเดียวกัน ทีนี้ปัญญาที่จะรู้ความต่างกันของจิตและเจตสิกว่า นี่คือจิต นี่คือเจตสิก ข้อปฏิบัติที่จะรู้ความต่างกันของจิตและเจตสิกนี้ มีอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคิณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กล่าวว่า
จิตเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม
เช่น ความรู้สึกเป็นสุข ถ้าไม่มีจิต จะมีความรู้สึกเป็นสุข ได้ไหม ไม่มีที่ตั้งของความรู้สึกเป็นสุข แต่ขณะใดที่เกิดสุขเวทนา ความรู้สึกเป็นสุข ขณะนั้นสุขเวทนาเกิดกับจิต จิตเป็นภูมิ เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย เป็นที่เกิด เป็นที่อยู่ของสัมปยุตตธรรม คือ สุขเวทนา
ถ้าไม่มีจิต ทุกขเวทนาจะมีได้ไหม ถ้าไม่มีจิต โทมนัสเวทนาจะมีได้ไหม ก็มีไม่ได้เลย แต่แม้กระนั้นก็รู้ได้ว่า โทมนัสเวทนา ความรู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ น้อยใจ ไม่ใช่จิต เป็นสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต โดยจิตเป็นภูมิ เป็นที่เกิดของสัมปยุตตธรรม คือของเจตสิกนั้น ๆ