จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน แต่บางครั้งกลับรู้ยากกว่า


    ผู้ฟัง ก็แปลกนะครับ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน แต่บางครั้งรู้ยากกว่า เช่น เห็นครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นแล้วบางครั้งก็พอใจ บางครั้งก็ไม่พอใจ บางครั้งก็เฉย ๆ โดยการศึกษาก็รู้อยู่ว่า ขณะที่เห็นนั้นเป็นจิตเห็น โดยการปฏิบัติ จิตเห็นก็ปรากฏ แต่มันปรากฏไม่ชัด ขณะที่ความไม่พอใจเกิดขึ้น บางครั้งมันชัดกว่า เพราะฉะนั้นผมเห็นว่า จิตนี้ในบางครั้งกลับรู้ยากกว่า เจตสิกบางประเภทกลับรู้ง่ายกว่า

    ท่านอาจารย์ จิตก็ดี เจตสิกก็ดี เป็นนามธรรม เป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ แต่ว่าเจตสิกนั้นมีลักษณะต่าง ๆ ตามประเภทของเจตสิก เช่น เจตนาเจตสิกเป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ หรือดีใจ หรือเสียใจ ในสิ่งที่จิตรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้นการที่จะประจักษ์ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเข้าถึงอรรถที่เป็นลักษณะของนามธรรมทั้งจิตและเจตสิก เพราะว่าบางทีท่านผู้ฟังชินกับเรื่อง พอดีใจก็บอกว่าดีใจ แต่ว่าไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะสภาพที่ดีใจ แต่บอกว่าดีใจ ชินกับเรื่อง เวลาที่โกรธ ก็บอกว่าโกรธ ชินกับเรื่องโกรธ ความโกรธ ชื่อโกรธ แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะที่เผา ที่ร้อน ที่ทำร้าย ที่กระด้างในขณะนั้นว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลทั้งสิ้น

    ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ก็ย่อมจะมีปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น จะเห็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สภาพรู้ทางตาก็เป็นเพียงธาตุรู้ ไม่ใช่รูป จึงเป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ ความรู้สึกชอบในสิ่งที่เห็น ก็เป็นแต่เพียงสภาพที่น้อมไปชอบในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงความรู้สึกติดด้วยความรู้สึกพอใจ นี่ค่ะ จะต้องเข้าถึงอรรถ ซึ่งเป็นลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นนามธาตุจริง ๆ


    หมายเลข 7148
    23 ส.ค. 2558