จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยในภพนั้นก็มีมาก
มิฉะนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงสภาพธรรมทุกประเภทโดยละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่ภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตขั้นต่าง ๆ ตามความเป็นจริง
ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความในมโนรถปุรนี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๘๑ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมที่รัตนปราสาท ที่บุพพารามของมหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นเรื่องของสังโยชน์ คือ ธรรมที่ประกอบ คือ ผูกพันบุคคลผู้มีกิเลสไว้ในวัฏฏะ ต้องเป็นบุคคลผู้มีกิเลสด้วย ซึ่งมีข้อความว่า
จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้นเป็นของมีมาก
การที่จะพิจารณาธรรม ก็ควรที่จะได้พิจารณาโดยละเอียด โดยลึกซึ้ง และโดยเทียบกับสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏ เช่นข้อความที่ว่า
จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้นเป็นของมีมาก
จริงไหมคะ ท่านผู้ฟังยังไม่ได้อยากไปเกิดในรูปพรหมภูมิ หรืออรูปพรหมภูมิ แต่ยังอยากจะเกิดในภูมิที่มีรูปดี ๆ มีเสียงดีๆ มีกลิ่นดี ๆ มีรสดีๆ มีโผฏฐัพพะดี ๆ คือ ในมนุษย์หรือว่าในสวรรค์ จริงหรือไม่จริงคะ ตามความเป็นจริงค่ะ นี่คือเรื่องของตัวท่านตามความเป็นจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ก่อนๆนี้ก็ไม่พ้นไปจากกามภูมิ อาจจะเคยเกิดในสวรรค์หรือในมนุษย์ แต่ก็วนเวียนอยู่ในภูมิที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานนี้ บางชาติก็อาจจะอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ ที่มีรูปเป็นอารมณ์ อาจจะเป็นรูปฌานที่ ๑ คือ ปฐมฌาน หรือรูปฌานที่ ๒ คือ ทุติยฌาน หรือรูปฌานที่ ๓ คือ ตติยฌาน รูปฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌาน โดยจตุตกนัย หรือรูปฌานที่ ๕ คือ ปัญจมฌาน โดยปัญจกนัย แล้วก็เกิดในรูปพรหมภูมิตามลำดับ แต่ว่าก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก มาเห็นอีก สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็พอใจที่จะให้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่าง ๆ ด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นในชาตินี้เป็นเครื่องบ่งถึงอดีตว่า ท่านเกิดในภพใด ภูมิใดมาก และกรรมในปัจจุบันชาตินี้ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ท่านจะเกิดต่อไปในภูมิใดมาก ในเมื่อยังเป็นกุศลที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเพราะฉะนั้นจุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดีในภพนั้น เป็นของมีมาก
จะเบื่อหรือไม่เบื่อ ก็จะต้องเกิดในภูมิที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมที่ประณีตมากน้อยแค่ไหน ก็ย่อมเกิดไปตามภูมินั้น ๆ