เหตุเก่า - เหตุใหม่


    ผู้ฟัง ขณะไหนเป็นเหตุเก่า ขณะไหนเป็นเหตุใหม่ ตรงนี้พวกเราควรตระหนักมากใช่ไหม ว่าขณะนี้เรามาเสพอารมณ์ที่เป็นกุศล แล้วเรากำลังสร้างเหตุใหม่กันหรือยัง

    ท่านอาจารย์ เรากำลังรู้อารมณ์ ซึ่งจิตที่รู้อารมณ์ในขณะนี้เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เราจึงต้องเห็นอย่างนี้ ได้ยินอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจิตเห็น จิตได้ยินเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่เมื่อเห็นแล้วเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตในสิ่งที่เห็น อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ไม่ว่ามีอะไรปรากฏ โลภะติดข้องทันทีมากกว่าอย่างอื่นมากกว่ากุศล ฉะนั้นเราจะได้รู้ ไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจสักเท่าไหร่ ประณีตสักเท่าไหร่ ก็คือจิตนั้นเกิดเห็นเพราะเป็นผลของอดีตกรรมที่เป็นกุศลจึงทำให้จิตได้เห็นสิ่งที่ดีๆ แต่หลังจากนั้นแล้วติดข้อง พอใจ ยึดมั่น บางคนก็ถึงกับกระทำทุจริตกรรม เช่นนี้ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลส ซึ่งไม่ว่าอะไรจะผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ติดหมด จึงต้องละโลภะ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อให้เห็นโลภะ และเพื่อละโลภะ

    เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน และเมื่อทรงตรัสรู้ สมัยนั้นยุคนั้นมีผู้ที่พร้อมจะเป็นพระอรหันต์ ปฏิสัมภิทาเอตทัคคะในทางต่างๆ เป็นพระอนาคามีก็มาก เป็นพระสกทาคามีก็มาก เป็นพระโสดาบันก็มาก แต่แม้กระนั้นไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะแสดงพระธรรมเพราะว่าโลภะเป็นสิ่งที่เห็นยาก จนกว่าจะรู้แทงตลอดในอรรถที่ทรงแสดงพระธรรมทั้ง ๔๕ พรรษาเพื่อละโลภะ เพราะว่าโลภะเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง นำมาซึ่งภพชาติ เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูก ก็มีปัญญาที่จะละความติดข้อง และก็ทำให้เกิดการดับภพชาติได้ แต่ว่าเราไม่เคยรู้เลย ว่า ทันทีที่อะไรปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ติดแล้วทั้งวัน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 85


    หมายเลข 7224
    22 ม.ค. 2567