คำอธิบายเกี่ยวกับธาตุ -พฐ.86


    ผู้ฟัง ขอคำอธิบายเกี่ยวกับธาตุ เท่าที่เคยทราบว่า ธรรมก็คือธาตุ ที่พอจะรู้จักก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ แต่คิดว่าน่าจะมีธาตุอื่นอีกมากกว่านี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความเข้าใจที่แท้จริงว่า คำว่า “ธาตุ” กับคำว่า “ธรรม” หมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะอย่าง สภาพธรรมที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เลือกไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ว่าธาตุกับธรรมก็คืออย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าจะใช้คำไหนให้เข้าใจลักษณะนั้น คุณสุกัญญากล่าวว่ารู้จักธาตุ จำนวนเท่าไร

    ผู้ฟัง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธาตุ โลภะธาตุ โทสะธาตุ จักขุธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โทสะธาตุ ผัสสธาตุ เวทนาธาตุ ทุกอย่างเป็นธาตุเหมือนกันหมด มีแสดงในพระไตรปิฎกครบถ้วน กล่าวถึงธาตุทุกอย่างโดยทุกชื่อได้ ทางตามีธาตุอะไรบ้าง ทางหูมีธาตุอะไรบ้าง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง จักขุธาตุยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นธาตุได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ แต่มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่ตา

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ เกิดดับหรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุที่เกิดดับ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ คือ "สังขตธาตุ" ทุกอย่างที่เราเข้าใจ และได้ยินคำนั้นไม่เปลี่ยน คำว่า “สังขต” คือ สภาพธรรมซึ่งเกิดดับก็เป็นธรรม สังขตธรรม สังขตธาตุ ทุกอย่างที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นจักขุมีจริง เกิดดับด้วย จักขุเป็นธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง ก็คือธาตุ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นความรู้ความเข้าใจของเราที่ต้องมั่นคง มิฉะนั้นแล้วเวลาที่ไปพบข้อความอื่น ก็อาจจะเกิดความสงสัยว่า เป็นธาตุหรือไม่ ความจริงทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ก็คือเป็นธาตุนั่นเอง

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรม ๔ ก็เป็นธาตุทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ปรมัตถธรรม ๔ ที่ไม่ใช่ธาตุมีไหม อาจมีการศึกษาชื่อกับจำนวนแต่ไม่ได้เข้าใจอรรถ หรือความหมาย หรือลักษณะของสภาพธรรมของคำนั้นเลย แต่ถ้าเข้าใจสภาพธรรมของธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งซึ่งมี ปฏิเสธไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ จะใช้คำว่าอะไร ทรงใช้คำว่าธาตุ (ธา + ตุ) เพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ จะใช้คำว่าธรรมก็ได้ หรือธาตุก็ได้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86


    หมายเลข 7228
    20 ม.ค. 2567