เวทนาเป็นธาตุใดในธาตุ ๑๘


    ผู้ฟัง เวทนาก็มีจริง จะเรียกได้ไหมว่าเวทนาธาตุ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แล้วถ้าโดยนัยของธาตุ ๑๘ เป็นอะไร ธาตุ ๑๘ จักขุเป็นธาตุหนึ่ง รูปธาตุที่กำลังปรากฏมีจริงๆ เป็นอีกธาตุหนึ่ง จักขุวิญญาณเป็นธาตุที่เห็น ถึงแม้สีสันวัณณะมี แต่ถ้าไม่มีจักขุวิญญาณ สีสันวัณณะจะปรากฏไหม ไม่ปรากฏเลย ที่ทุกคนรู้ว่ามีเพราะกำลังปรากฏโดยจักขุวิญญาณธาตุ เห็น ไม่ใช่เราเห็น และก็ต้องอาศัยจักขุธาตุซึ่งเป็นจักขุปสาทรูปด้วย ๓ ธาตุทางตา ส่วนทางหู ก็มี ๓ ธาตุเหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รวมเป็น ๑๕ ธาตุ แต่จิตไม่ได้มีเพียงแค่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ยังมีจิตอื่นอีกเป็นมโนธาตุ ๓ สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ จักขุวิญญาณเป็นธาตุที่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตวิญญาณก็สามารถได้ยินเสียง ฆานวิญญาณก็ทำอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณก็ทำกิจลิ้มรส กายวิญญาณก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส บางคนบอกว่าไม่ชอบภาษาบาลี ไม่คุ้นเคยกับภาษาบาลี ไม่ใช้ภาษาบาลีก็ได้ แต่ยากเพียงไหนที่จะจำเพียงคำว่า จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ ค่อยๆ จำไปทีละน้อย จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) โสตวิญญาณ (จิตได้ยิน) ฆานวิญญาณ (จิตได้กลิ่น) ชิวหาวิญญาณ (จิตลิ้มรส) กายวิญญาณ (จิตรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส)

    สำหรับมโนธาตุ ๓ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ โดยที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ๑ สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากจิต ๒ คือกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ สามารถจะรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ นี่ก็คือความต่างของจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานเป็นปกติในชีวิตประจำวันเป็นมโนธาตุ ๓ เพราะต่างกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะสามารถจะรู้อารมณ์ได้ ๕ และยังมีจิตที่สามารถจะรู้อารมณ์ทางใจด้วย เพราะว่าสำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต กับสัมปฏิจฉันนจิตสามารถจะรู้อารมณ์ทางปัญจทวารเท่านั้น ไม่สามารถจะรู้อารมณ์ทางใจได้เลย แต่จิตที่รู้อารมณ์ทางใจด้วยเป็น" มโนวิญญาณธาตุ" รวม ๑๗ ธาตุแล้ว ยังมีอีกหนึ่ง คือ ธรรมอื่นที่เหลือทั้งหมด เช่น เวทนา สัญญา หรืออะไรก็ตาม เป็น "ธัมมธาตุ" ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าเมื่อเป็นธรรมแล้วก็ต้องเป็นธาตุ ถ้าไม่ใช่ธาตุที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นธัมมธาตุ คือประมวลไว้หมดเลยที่เหลือ นี่คือความเข้าใจของเราที่จะต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคง ว่าธาตุกับธรรมก็คืออย่างเดียวกัน แล้วแต่ว่าจะแสดงโดยนัยไหน

    ผู้ฟัง มโนวิญญาณธาตุคือ

    ท่านอาจารย์ คือ จิตที่เหลือจากจิตที่กล่าวแล้ว จิตที่กล่าวแล้วทั้งหมดมี ๑๓ แล้ว คือ จักขุวิญญาณ ๒ โสตวิญญาณ ๒ ฆานวิญญาณ ๒ ชิวหาวิญญาณ ๒ กายวิญญาณ ๒ มโนธาตุ ๓ ที่เหลือนอกจากนี้ คือ มโนวิญญาณธาตุ

    ผู้ฟัง เจตสิกต้องเป็นธัมมธาตุ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง พระธรรมคืออย่างนี้ จริงอย่างนี้ แสดงไว้อย่างนี้ จะไปดูในพระไตรปิฎกทั้งหมดไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น อาจจะขยายความโดยนัยต่างๆ เพิ่มเติมให้เข้าใจขึ้น แต่พื้นฐานต้องเป็นความเข้าใจของเราที่มั่นคงจริงๆ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86


    หมายเลข 7229
    22 ม.ค. 2567