ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน - บังคับบัญชาไม่ได้


    ผู้ฟัง คำว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และอีกวรรคหนึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เป็น ๒ ความหมายใช่ไหม ไม่ใช่รวมๆ กัน

    อ.ธิดารัตน์ แสดงไว้ในวิภังค์มี ๔ ประการ ๑. คือ ความหมายของอนัตตาโดยความเป็นของสูญ ๒. โดยความไม่มีเจ้าของ ๓. โดยเป็นสิ่งที่ควรกระทำชอบใจไม่ได้ ๔. โดยปฏิเสธต่ออัตตา ท่านแสดงไว้ ๔ ประการเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ ความหมายของคำว่า "อนัตตา"ไม่ใช่ "อัตตา" ไม่ใช่ของใคร ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพียงได้ยินเท่านี้เราสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่เป็นอนัตตาซึ่งไม่ใช่เราในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินอย่างนี้ได้ไหม ถ้าเรายังไม่สามารถที่จะเข้าใจโดยคำนี้ แล้วเราคิดว่าจะมีคำอื่นที่จะทำให้เราสามารถจะเข้าใจได้ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราจะรู้คำมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ทำให้เราสามารถที่จะรู้ว่าขณะนี้สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน การรู้คำต่างๆ มากมายเหล่านั้นจะมีประโยชน์เกื้อกูล หรือว่าคำหนึ่งคำใดก็ตามที่สามารถทำให้เราเข้าถึงความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้ว จึงเห็นว่าสิ่งนั้นไม่มีสาระ เพราะขณะนี้ทุกอย่าง (ยังรู้สึกว่า) มีสาระ บ้านก็มีสาระ ต้นไม้ก็มีสาระ ถ้วยชามทุกสิ่งทุกอย่างมีสาระหมดใช่ไหม เพราะเหตุว่ายังมีเรา แต่ถ้าสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ รู้ว่าเป็นธรรม รู้ว่าเป็นธาตุ เพราะว่าลักษณะนั้นเป็นใคร แข็งเป็นใคร จะเป็นใครไม่ได้เลย ได้ยินเป็นใคร ก็เป็นใครไม่ได้ ก็เป็นชั่วขณะที่ได้ยินเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ถ้ามีการเข้าถึงลักษณะของธรรม ก็จะเห็นความไม่เป็นสาระของธรรมซึ่งเกิดดับ เราค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีด้วยปัญญาของเราเอง ไม่ใช่ว่าเราไปจดจำชื่อต่างๆ มากมาย เพราะเหตุว่าคำที่มีในพระไตรปิฎกมีมาก แต่ปัญญาของเราสามารถที่จะเข้าถึงหรือยัง แม้แต่เพียงคำเดียวคือธาตุหรือธรรม ถ้าเราสามารถจะเข้าถึงคำว่าธาตุหรือธรรม ก็จะมีความเข้าใจในสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นถึงความไม่มีสาระ และเราก็จะพบว่าข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก และปัญญาของเราที่ถึงก็เป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่มี เพราะเหตุว่าเราสามารถที่จะรู้ด้วยตัวเอง ก็จะเป็นประโยชน์ ซึ่งหากเราจะจำเพียงคำแปลหรือชื่อ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม หรืออาจจะทำให้ไขว้เขว แล้วก็แยกไม่ออก เช่น บัญญัติ กับ ปรมัตถ์ ธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม และเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นธาตุ แต่บัญญัติเป็นคำเป็นเรื่องราวที่คิดนึก หรือสิ่งใดก็ตามที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม สิ่งนั้นก็เป็นบัญญัติ แต่ถ้าศึกษาละเอียดต่อไปอีกก็จะรู้อีกหลายความหมายทีเดียว

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86


    หมายเลข 7236
    22 ม.ค. 2567