สัมปยุตธรรม - ชาติของจิต - ภูมิของจิต
สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตที่ว่า
อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติที่วิจิตรตามสมควรแห่งอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม
ซึ่งหมายความถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้จำแนกจิตออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายนัย เช่น
โดยชาติ ๔ ได้แก่ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ ก็ได้กล่าวถึงแล้วนะคะ
และโดยภูมิ ซึ่งมีความหมาย ๒ อย่าง คือ ภูมิ หมายถึงระดับขั้นของจิต ซึ่งต่างกันเพราะสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย ทำให้จิตต่างกันออกเป็น ๔ ขั้น ๔ ระดับ คือ
เป็นกามาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นรูปาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นอรูปาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นโลกุตตรจิต ๑ ประเภท
สำหรับกามาวจรจิตมีทั้ง ๔ ชาติ คือ จิตที่เป็นกามาวจรจิต จิตซึ่งเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นั้น ที่เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี
นอกจากกามาวจรจิตแล้ว จิตระดับที่สูงกว่านั้น ไม่เป็นอกุศล รูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี อรูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี โลกุตตรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี
เพราะฉะนั้นสำหรับรูปาวจรจิตก็มีเพียง ๓ ชาติ คือ กุศลเป็นเหตุให้เกิดวิบาก ถ้ารูปาวจรจิตกุศลเกิดขึ้นและดับไปสะสมอยู่ในจิต เป็นปัจจัยที่จะให้รูปาวจรวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิในพรหมโลก ซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิ ภูมิหนึ่งภูมิใดในรูปพรหม ๑๖ ภูมิและสำหรับรูปาวจรกิริยาจิตก็เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ซึ่งถึงอัปปนาสมาธิ
สำหรับ “อรูปาวจรจิต” ก็มี ๓ ชาติ คือ เป็นอรูปาวจรกุศล ประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรวิบาก ประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรกิริยา ประเภทหนึ่ง โดยนัยเดียวกัน
ซึ่งสำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต บางครั้งท่านผู้ฟังจะได้ยินคำศัพท์ที่ใช้คำรวมสำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตว่า “มหัคคตจิต”