จิตรู้อารมณ์แล้ว ตั้งสติปัฏฐาน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ตั้งได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยไหมคะ เชิญค่ะ
ผู้ฟัง จิตที่รับรู้อารมณ์ตอนนี้ เราจะตั้งสติปัฏฐาน โดยจะบอกว่า สิ่งที่เห็น หรือจิตที่เห็นรับอารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะเป็นการถูกต้องไหมครับ
ท่านอาจารย์ ตั้งได้ไหมคะ ตั้งสติได้ไหมคะ
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ สติเกิดระลึกได้ขั้นคิด คือ คิดอย่างนั้นเป็นสติที่ระลึกอย่างนั้น จึงคิดอย่างนั้น
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ มีสติหลายขั้นนี่ค่ะ สติเกิดกับโสภณจิต เกิดกับกุศลจิต ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเพราะสติระลึกได้ จึงเป็นกุศลประเภทนั้นๆ เช่น วันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่แล้วอกุศลจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิตเกิด ทันทีที่ลืมตานึกถึงสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทางตา อยากเห็นอะไร อยากได้ยินเสียงอะไร อยากได้กลิ่นอะไร อยากลิ้มรสอะไร ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของโลภมูลจิต เพราะฉะนั้นขณะนั้นสติไม่ได้เกิด ขณะที่เป็นโลภมูลจิต แต่ขณะใดก็ตามซึ่งกุศลจิตเกิด แทนที่คิดจะเอา แต่ว่าคิดที่จะสละ คิดที่จะให้ประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราค่ะ เป็นสติที่ระลึกในการที่จะให้ ในการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น นั่นเป็นสติขั้นที่จะให้ ซึ่งเป็นทาน ระลึกได้ในการที่จะให้ ในการที่จะสละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น หรือเวลาที่จะเว้นทุจริต ขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึก ที่จะเว้น ไม่ใช่เรา
เพราะฉะนั้นเวลาที่ป่วยไข้ แล้วระลึกขึ้นมาได้ว่า เป็นผลของอดีตกรรม ทำให้ความรู้สึกไม่สบายทางกายเกิดขึ้น เพราะว่าทุกคนอยากจะมีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพดี มีความสุขทางกาย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลของอดีตอกุศลกรรม ขณะนั้นก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้นที่กาย อาจจะปวดที่ตา เจ็บที่หลัง เจ็บมือ หรือตัวร้อน หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา แต่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่คิดนั้นเป็นสติที่ระลึกเป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน โดยไม่ต้องคิด
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่คิด แต่ว่ารู้ตรงลักษณะที่ปรากฏ
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ ว่าอีกแล้วไงคะ กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ต้องว่าอะไรไหมคะ เวลาที่กำลังรู้แข็ง กระทบสัมผัสหรือจับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แข็ง ต้องว่าอะไรไหมคะในขณะที่แข็ง ไม่ต้องใช่ไหมคะ แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นสติที่เป็นสติปัฏฐานระลึกได้ รู้ว่ามีแข็งกำลังปรากฏ “รู้” นะคะ ไม่ใช่ว่าต้องคิดออกมาเป็นคำ ระลึกได้ จึงระลึกรู้ที่แข็งที่กำลังปรากฏ เหมือนกับทางตา สีสันวรรณะกำลังปรากฏ หลงลืมสติ คุยกันเพลินไป แต่เกิดระลึกได้ว่า มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้นึกเป็นเรื่อง
เพราะฉะนั้นสติขั้นคิดก็คิดเป็นธรรมที่เป็นกุศล รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล นั่นเป็นสติที่ระลึกพร้อมการคิด แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะที่ขณะนั้นไม่ได้คิด แต่กำลังพิจารณาศึกษาน้อมที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามที่ได้ยินได้ฟัง
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ ปกติคนเราหยุดความคิดไม่ได้หรอกค่ะ คิดกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเห็นทางตา ก็คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาทันที พอได้ยินทางหูในขณะนี้ ก็คิดถึงเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆทันที เวลาที่ได้กลิ่น ก็คิดเรื่องกลิ่นที่ปรากฏว่า กลิ่นอะไร ถ้าเป็นกลิ่นไม่ดี ก็หาทางที่จะกำจัด ถ้าเป็นกลิ่นที่ดี ก็หาทางที่จะได้มา
เช่นเดียวกับเวลาที่รสปรากฏ ชิมอาหารต่างๆ ก็คิดตามรสที่ปรากฏว่า จะต้องปรุง จะต้องเติม หรือจะต้องทำอะไร นี่ก็เป็นความคิด ซึ่งเกิดต่อจากทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ได้ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส
เพราะฉะนั้นเรื่องคิดนี้ คิดอยู่เป็นประจำ ถ้าศึกษาสภาพธรรมทั้งหลายจริงๆ จะรู้ได้ว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ว่ามักจะคิดเสมอ แม้ว่ากำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ก็อดคิดไม่ได้ว่า แข็งเป็นรูปธรรม สภาพที่รู้แข็ง เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่ว่ายับยั้งว่า อย่าคิดอย่างนั้น แต่ว่าสติปัฏฐานต้องละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังศึกษาลักษณะแข็ง แต่เป็นสภาพที่กำลังคิดเรื่องแข็งที่กำลังปรากฏ