สติระลึกรู้เวทนาได้โดยลักษณะสืบต่อของเวทนาที่เกิดกับจิตอื่น


    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อธิบายก็หมายความว่า ลักษณะของเวทนาซึ่งเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานกับตัวสติ ซึ่งเป็นผู้ระลึกรู้ ถ้าว่าโดยขณะแท้ๆที่ว่าขณะเป็นปัจจุบันว่า โดยขณะๆ สภาวธรรมนั้นเกิดในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ว่าสติสามารถจะระลึกรู้สภาพธรรม คือ เวทนานั้นได้ โดยลักษณะการสืบต่อของเวทนา

    ท่านอาจารย์ ที่เกิดกับจิตอื่น เช่นเดียวกับการเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่กุศลจิตที่ระลึกรู้การเห็น เพราะว่าระหว่างจักขุวิญญาณ๒ ดวง มีมหากุศลจิตซึ่งเป็นสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้จักขุวิญญาณ คือ สภาพเห็นในขณะนี้ หรืออาจจะระลึกลักษณะของเวทนาที่เกิดพร้อมการเห็นในขณะนี้ แต่ว่าจิตซึ่งประกอบด้วยสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนั้นไม่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของจิตหรือเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับสติปัฏฐานนั้นได้ ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่น ดวงอื่น ขณะอื่น

    ผู้ฟัง ลักษณะของเวทนาซึ่งมีลักษณะการสืบต่อ ที่เป็นลักษณะที่เป็นปัจจุบันจริงๆ แล้วสติปัฏฐานไม่สามารถที่จะระลึกรู้ได้ ทีนี้ลักษณะของเวทนาที่มีสภาพการสืบต่อเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ อันนี้ผมยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกับทางตาที่กำลังเห็น เห็นไม่ได้ดับเลยค่ะ ฉันใด ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็น เพราะเหตุว่าเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง

    ขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดแล้วดับไป เห็นแล้วดับไปๆ ไม่ใช่มีแต่จักขุวิญญาณเกิด ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณจิตด้วย

    นี่เป็นการที่สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของเวทนา เพราะเหตุว่าเวทนาเกิดกับจิตทุกดวง


    หมายเลข 7291
    20 ส.ค. 2558