สติระลึกเวทนาที่เกิดกับจิตเห็น


    ผู้ฟัง ถ้าสติจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่เกิดพร้อมกับจิตเห็น จักขุวิญญาณก็ไม่ได้เกิดกับผู้ที่ได้ฌานสมาบัติ คือ สืบต่อกันเป็นลักษณะการเกิดดับๆก็จะต้องมีสัมปฏิจฉนะ โวฏฐัพพนจิต สันตีรณจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต ภวังคจิต สลับกันไปอย่างนี้ตลอดใช่ไหม ที่นี้ลักษณะการระลึกรู้ลักษณะเวทนาในจักขุวิญญาณในจิตเห็นเท่านั้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ หรือสัมปฏิจฉนะก็ได้ เพราะเวลานี้ท่านผู้ฟังบางท่านก็ห่วงอยู่ประการหนึ่ง คือว่า ไม่ทัน ระลึกไม่ทัน มักจะใช้คำว่า ระลึกไม่ทัน ที่จริงแล้ว ไม่ทราบว่าท่านจะให้ทันจิตดวงไหน จึงกล่าวว่าระลึกไม่ทันระลึกไม่ทัน ที่ถูกแล้ว “หลงลืมสติ” คือ สติไม่ระลึก กับ “มีสติ” คือ สติเกิดขึ้นจึงระลึก แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทันค่ะ เพราะไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้ทันจิตดวงหนึ่งดวงใด เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องทันจิตดวงไหน เพียงแต่ว่าขณะใดที่สภาพธรรมใดปรากฏให้สติระลึกรู้ได้ สติปัฏฐานจึงระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่ต้องห่วงว่า นี่เป็นจิตที่ดับไปแล้วๆๆ เพราะแม้จะคิดว่า จิตเกิดดับเร็วสักเท่าไร ก็ยังไม่ใช่สภาพการเกิดดับของจิตจริงๆ ซึ่งเร็วยิ่งกว่านั้น ในขณะนี้ที่ว่าเห็น จะเอาอะไรมาวัดว่า ดวงไหนดับไป ไม่มีใครสามารถจะกำหนดได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของจิตที่เห็นนี้ เรามุ่งหมายเฉพาะจักขุวิญญาณจิตเท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ วิถีจิตทั้งหมดขณะที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง แต่จิตที่ทำกิจเห็นจริงๆ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดทางจักขุทวารวิถีเช่นเดียวกัน แต่ว่าทำหน้าที่รับรูปารมณ์ รับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เห็น สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบในจิตเห็น ถ้าจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบในสัมปฏิจฉันนจิต หรือจิตดวงอื่นๆ ที่นอกจากจักขุวิญญาณอันนี้จะเป็นการระลึกถูกต้องหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ไม่เป็นไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่า ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบในจิตเห็น แต่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่กำลังปรากฏทางจักขุทวาร

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า ทางตา หรือทางหู

    ผู้ฟัง แต่ถ้าบอกว่า ระลึกรู้เวทนาในจิตเห็น อันนี้ผมยังไม่เข้าใจ ถ้าพูดว่า ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นทางจักขุทวาร

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรม เพื่อที่จะเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมโดยย่อ โดยนัยของพระสูตร ได้เห็นความเป็นอนัตตาโดยละเอียด จากขั้นการฟังแล้วพิจารณาสำหรับเนยยบุคคล ซึ่งไม่สามารถจะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมทันทีที่ได้ทรงแสดงธรรม

    เพราะเหตุว่าสำหรับท่านที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่า นามธรรมและรูปธรรมไม่เที่ยง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยของพระสูตร ไม่มีคำว่า สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือชวนะเลย แต่ว่าทรงแสดงให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และผู้นั้นสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนสำหรับผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลและวิปัญจิตัญญูบุคคล แต่สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือปทปรมะ ที่จะสะสมปัจจัยไป ต้องแสดงโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะให้เข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า ในขณะที่เห็น ไม่ใช่มีเฉพาะจักขุวิญญาณ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงโดยความมีสภาพธรรมอะไรเกิดสืบต่อในแต่ละทวาร โดยขั้นการฟัง แต่ว่าโดยขั้นที่จะระลึกรู้จริงๆ จะทรงแสดงให้ระลึกรู้อุเบกขาเวทนาที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ ที่เกิดกับสันตีรณะไหม เพียงแต่ทรงแสดงว่า ให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    นี่ก็ต้องใช้เวลามากทีเดียวนะคะ สำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่นามธรรม คือ ไม่ใช่สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงแค่นี้ค่ะ ไม่ต้องทรงแสดงถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรืออะไรเลย เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่จะให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารที่สามารถจะรู้ได้

    มิฉะนั้นแล้วจะไม่ทรงแสดงพระอภิธรรม แต่ที่ทรงแสดงสำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือผู้ที่เป็นปทปรมะ เพื่อที่จะได้เกื้อกูลให้เห็นว่า สภาพธรรมทางตาซึ่งกำลังปรากฏไม่ใช่ขณะจิตเดียว แต่ว่ามีจิตหลายขณะ และประกอบด้วยเจตสิกหลายชนิดแต่ละขณะสืบต่อกัน แต่ถ้าใครสามารถจะรู้ชัดในความไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา อันนั้นก็จะสามารถรู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นรูปธรรม และลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็จะปรากฏทางมโนทวารให้รู้ว่า ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปธรรมแต่ว่าไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อละเอียดเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือชวนะ


    หมายเลข 7292
    20 ส.ค. 2558