เจตสิกที่เกิดกับจิตทำให้จิตต่างกันโดยชาติ โดยภูมิ
ขอกล่าวถึงอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า
อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม
เจตสิกที่เกิดกับจิต ทำให้จิตต่างกันไป ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้ว โดยนัยของชาติ ๔ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ ต่างออกไป โดยภูมิ ๔ ทำให้จิตต่างกันเป็นภูมิ ๔ คือ เป็นกามาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นรูปาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นโลกุตตรจิตประเภทหนึ่ง และสัมปยุตตธรรมยังจำแนกให้จิตต่างกัน โดยเวทนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จิตประกอบด้วยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง โสมนัสเวทนาบ้าง โทมนัสเวทนาบ้าง
นี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับ จึงได้ต่างกันไป เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นทุกขเวทนา ย่อมจะเป็นสุขเวทนาร่วมด้วยไม่ได้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นทุกขเวทนาต้องดับก่อน แล้วจึงจะมีปัจจัยให้เวทนาอื่นเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นจิต ซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ หรือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเกิดดับทุกขณะ