ความเข้าใจคำว่า ขณะ และ อนุขณะ
ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องจิต ยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่า “ขณะ”
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้น และดับจะเรียกว่าอย่างไร
ผู้ฟัง จากที่เรียนมาเรียกว่า “ขณะ”
ท่านอาจารย์ และเข้าใจได้ไหมถ้ากล่าวว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ เข้าใจได้ไหมว่า ๑ จิตเป็น ๑ ขณะ
ผู้ฟัง ๑ จิตเป็น ๑ ขณะ แล้วใน ๑ ขณะก็ยังมีอนุขณะ
ท่านอาจารย์ หมายความว่าจิตเป็นสภาพที่เกิดดับ ปฏิสนธิจิตเกิดไหม
ผู้ฟัง ปฏิสนธิก็เกิดดับ
ท่านอาจารย์ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด แม้ปฏิสนธิจิตหรือจิตใดๆ ก็ตาม ขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับมีไหม
ผู้ฟัง จิตที่เกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี
ท่านอาจารย์ แล้วขณะเกิดกับขณะดับ มีใช่ไหม แล้วขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับมีไหม
ผู้ฟัง ถ้าเป็นความละเอียดขนาดนั้นก็ต้องมี
ท่านอาจารย์ นี่คือการที่เราจะเริ่มเข้าใจว่า จิต ๑ ขณะ ก็จะมีขณะที่เกิดกับขณะที่ดับ และขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับด้วย เพราะฉะนั้นจิต ๑ ขณะจะมีอนุขณะ ใช้คำว่าอนุขณะ ๓ คือขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ ภาษาบาลีใช้คำว่า “ฐิติ” และขณะที่ดับคือ “ภังคะ” เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดเป็น "อุปาทขณะ" ขณะที่ยังไม่ดับที่ยังตั้งอยู่เป็นฐีติขณะ ขณะที่ดับเป็นภังคขณะ ที่ทรงแสดงอย่างนี้โดยละเอียดตามความเป็นจริง ซึ่งทรงตรัสรู้ว่าทันทีที่จิตเกิดในอุปาทขณะนั่นเองก็จะมีรูปเกิด โดยจิตนั้นเป็นสมุฏฐาน หรือโดยกรรมเป็นสมุฏฐานก็ตามแต่ ฉะนั้นที่เรากล่าว เป็นการกล่าวกว้างๆ ว่า เหตุใดจึงต้องทรงแสดงถึงอนุขณะของจิต เพียงจิต ๑ ขณะแสดงว่ามีอนุขณะ ๓ เพราะว่ากัมมชรูป รูปที่เกิดจากกรรมเกิดในอุปาทขณะของจิต ในฐีติขณะของจิต และในภังคขณะของจิต แสดงให้เห็นว่าทรงตรัสรู้ว่า รูปที่เกิดจากกรรมจะเกิดเมื่อใดบ้าง แต่ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มี กัมมชรูปจะเกิดไม่ได้เลย จึงต้องมีปฏิสนธิจิต เพราะว่าปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้กระทำแล้วทำให้เกิดวิบากจิต และวิบากจิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิต ซึ่งสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนโดยเราเลือกกรรมไม่ได้เลยว่าจะให้กรรมไหนให้ผล ที่เราเป็นเราเดี๋ยวนี้ นั่งที่นี่ ขณะนี้ เราเลือกหรือไม่ว่าเราจะเป็นคนนี้ อย่างนี้ ชาตินี้ ไม่มีทางเลย แต่กรรมหนึ่งไม่ว่าจะเป็นกรรมที่ชาติก่อนใดๆ ก็ตาม แต่เป็นกรรมที่ถึงกาละที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมนั้นก็จะทำให้จิตก่อนจะตาย จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ตาม ตามอารมณ์ที่ปรากฏ แล้วผลก็คือว่าถ้าขณะก่อนจุติ จิตเศร้าหมองเป็นอกุศล ก็จะทำให้อกุศลวิบากเกิด แต่อกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติไม่ได้หมายความว่าเป็นการทำกรรมนั้นในขณะนั้น แต่ถึงกาละที่กรรมหนึ่งจะเป็นชนกกรรม จึงทำให้จิตขณะนั้นเศร้าหมองเมื่อมีอารมณ์ที่ปรากฏก่อนจะตาย เราคาดคะเนไม่ได้เลย คนจะตายเอาดอกไม้ไปให้บูชาพระ แต่ว่าชนกกรรมของเขาที่จะทำให้จิตเศร้าหมองหรือผ่องใสที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วแต่กรรมใด เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิดใกล้จะจุติหรือก่อนจุติจิต เวลาที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตต้องเป็นอกุศลวิบาก และกรรมนั้นก็ทำให้ทั้งจิต และเจตสิกที่เป็นวิบากเกิดพร้อมกัมมชรูปในอุปาทขณะ ในฐีติขณะ ในภังคขณะ ในจิต ๑ ขณะที่เกิด
เพราะฉะนั้นก็พอที่จะเข้าใจได้ ถ้ากล่าวถึงขณะก็คือ ๑ ขณะจิต บางแห่งจะใช้คำว่าดวง คือผู้ที่ศึกษาเบื้องต้นท่านใช้คำว่าดวงมาโดยตลอด เพราะว่าภาษาไทยเราจะมีคำว่าเก้าอี้หนึ่งตัว ช้างหนึ่งเชือก ช้อนหนึ่งคัน เมื่อกล่าวถึงจิตท่านก็ใช้คำว่าจิต ๑ ดวง แต่ไม่ต้องไปคิดถึงภาพใดๆ เพราะถ้าคิดถึงภาพ ก็เรียกได้ว่าขณะนั้นเราไม่ได้ฟังธรรมที่จะให้เข้าใจธรรม เราไปนึกถึงภาพ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นภาพวงกลมหนึ่งวงแล้วก็วงกลมเล็กๆ ข้างใน ๓ วง ทิ้งไปได้เลย เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของจิต ไม่ได้ระลึกตรงสภาพรู้ที่กำลังรู้ในขณะนี้ ขณะนี้มีสภาพรู้ทางตากำลังเห็น มีสภาพรู้ทางกายกำลังรู้แข็ง มีสภาพรู้ทางหูกำลังได้ยินเสียง นี่คือสภาพรู้ทั้งหมด ฉะนั้น การที่จะเข้าถึงธรรม ไม่ควรที่จะเอารูปมาเจือปนหรือมาทำให้เราคิด และคิดว่านั่นจะช่วยความจำ แต่ไม่ได้ช่วยความเข้าใจ ทำให้ติดตาว่าภาพนั้นมีลักษณะอย่างไรใช่ไหม โยงกันไปทางซ้ายทางขวามีกี่วงอะไรอย่างนี้ ก็เป็นการที่ไปทำให้จำภาพ แต่ไม่ได้ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้นถ้าฟังจริงๆ พิจารณาจริงๆ สามารถเข้าใจได้ไหมในลักษณะของนามธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ แต่มีอนุขณะ คือความละเอียด ละเอียดถึงว่าขณะเกิดไม่ใช่ขณะดับ ขณะที่เกิดเป็นอุปาทขณะ ขณะที่ยังไม่ดับเป็นฐีติขณะ ขณะที่ดับเป็นภังคขณะ นี่คือ ๑ ขณะจิต และอนุขณะ ๓ มีใครไม่เข้าใจตอนนี้บ้างไหม หรือยังสงสัยอยู่ คำว่า “ขณะ” เข้าใจแล้วใช่ไหม
ที่มา ...