จิตวิจิตรต่างๆ กันออกไปโดยชาติ โดยภูมิ โดยเวทนา โดยสัมปยุตต์และวิปยุตต์
ในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งก็ยังคงอยู่ในเรื่องของอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควรด้วยอำนาจแห่งสัมปยุตธรรม
แสดงให้เห็นว่า จิตแม้ว่าจะเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ หรือว่าทีละ ๑ ดวง แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ชั่วขณะที่เกิดแล้วดับนั้น จิตต่างกันมากเหลือเกิน ตามสัมปยุตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า จิตต่างกันไปโดยนัยต่างๆ เช่น
โดยชาติ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง และเรื่องของกุศล ก็เป็นกุศลต่างๆ กันออกไปอีก เรื่องของอกุศล ก็เป็นอกุศลต่างๆกันออกไปอีก เรื่องของวิบาก ก็เป็นวิบากต่างๆกันออกไปอีก เรื่องของกิริยา ก็เป็นกิริยาต่างๆกันออกไปอีก
โดยภูมิ คือ ถ้าเป็นกุศล เป็นกุศลภูมิไหน ระดับไหน ระดับกามาวจร เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าเป็นไปในรูปฌาน หรือว่าเป็นไปในอรูปฌาน หรือว่าเป็นไปในระดับของโลกุตตระ ถ้าเป็นอกุศล ก็ยังมีอีกหลายประเภท เป็นอกุศลประเภทโลภะ หรือว่าประเภทโทสะ หรือประเภทโมหะ เป็นอกุศลที่เป็นไปทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ
อย่างตัวอย่างที่ท่านผู้ฟังถามเมื่อกี้นี้ ก็เป็นความวิจิตรของจิต ซึ่งเมื่อเกิดความยินดีในเสียงเพลงแล้ว ก็ทำให้อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปทางกาย นั่นก็เป็นความวิจิตรของจิตที่เกิดมาชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้น เรื่องความวิจิตรของจิต แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวทีละ ๑ ขณะ ก็ย่อมต่างกันไปตามสัมปยุตธรรม คือ เจตสิก ซึ่งเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ซึ่งได้แสดงความต่างกันของจิตโดยชาติ โดยภูมิ โดยเวทนา โดยสัมปยุต์และวิปปยุตต์แล้ว