การชักจูงทางใจเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ผมยังติดใจเรื่องสังขาร เมื่อกี้นี้อาจารย์ยกมา ๒ ตัวอย่าง เป็นกุศลตัวอย่างหนึ่ง เป็นอกุศลตัวอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์ยกมานั่น ก็เป็นการชักจูงด้วยวาจา การชักจูงนี้ ชักจูงได้ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ทีนี้ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างของการชักจูงด้วยใจ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ใจของคนอื่นนะคะ แต่ใจของตัวเอง ทีแรกก็ไม่สนใจ คิดไปคิดมาก็ดีเหมือนกัน ถ้าสมมติว่า อ่านพบในหนังสือพิมพ์ก็ตาม จะมีการประกาศเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม อาจจะเป็นโฆษณาหนัง ซึ่งรู้สึกว่าจะสนุกดี ทีแรกก็อาจจะไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่พอคิดไปคิดมาก็เกิดความสนใจขึ้น ไปดีกว่า อย่างนั้นได้ไหมคะ
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นสสังขาริก หรือเป็นสสังขาร หมายความถึงจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง จึงมีกำลังอ่อน ซึ่งการชักจูงนั้นอาจจะเป็นด้วยจิตของตนเอง เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นจิตที่เกิดแรงกล้า มีกำลังขึ้นในทันที แต่ต้องเป็นจิตที่มีสภาพลังเลไปลังเลมา คิดไปคิดมา แล้วเกิดเป็นกุศลหรืออกุศลประเภทนั้นๆขึ้น เหมือนการทำบุญค่ะ บางท่านก็คิดอยากจะทำบุญ แต่ว่าอาจจะไม่สะดวก เพราะเหตุว่าต้องเดินทางไป หรือว่าต้องการอะไรๆหลายอย่าง แต่หลังจากคิดไปคิดมา คิดมาคิดไปแล้วก็ไป อันนั้นก็เป็นจิตที่ไม่แรงกล้าในทันที แต่ถ้าเป็นจิตที่แรงกล้า มีกำลังกล้าในทันที ถึงจะลำบากอย่างไรก็ไป
นั่นแสดงให้เห็นถึงสภาพของจิตซึ่งมีกำลัง เป็นอสังขาร มีความเป็นกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น แล้วสามารถที่จะกระทำสิ่งนั้นลงไปทันทีได้ ไม่ต้องอาศัยการที่จะต้องคิดไปคิดมา ซึ่งแสดงว่าจิตนั้นเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน