อกุศลเหตุ ๓ - โสภณเหตุ ๓
ถ้าไม่มีอะไรสงสัย ก็ขอกล่าวถึงความต่างกันของจิต โดยสัมปยุตธรรม ที่เป็น โดยเหตุ
สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่จะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยปัจจัย ไม่มีเลย จะเกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่มีปัจจัยอะไรไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อปรมัตถธรรมที่เป็นสังขารธรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป และเมื่อกล่าวถึงจิตต่างกันโดยเหตุ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ธรรมที่ทรงแสดงว่าเป็นเหตุนั้น ได้แก่อะไร ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก เป็นโลภเหตุ ๑ โทสเจตสิก เป็นโทสเหตุ ๑ โมหเจตสิก เป็นโมหเหตุ ๑นี่เป็นอกุศลเหตุ ๓
และมี อโลภเจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับโลภะ อโลภเจตสิก เป็นอโลภเหตุ ๑ อโทสเจตสิก เป็นอโทสเหตุ ๑ อโมหเจตสิก เป็นอโมหเหตุ ๑ รวมเป็นโสภณเหตุ ๓
สภาพธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงว่าเป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ ๓ และเป็นโสภณเหตุ ๓
นอกจากนั้นแล้ว เจตสิกอื่นนอกจากเวทนาและสัญญา เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง แต่ไม่ใช่เป็นเหตุ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นเหตุนั้นอุปมาเหมือนกับรากแก้วของต้นไม้ ซึ่งตราบใดที่ยังมีอยู่ ยังสมบูรณ์ ยังแข็งแรง ก็เป็นเหตุให้ต้นไม้นั้นเจริญงอกงาม มีดอก มีผลมากมาย ฉันใด เหตุทั้ง ๖ เมื่อเกิดขึ้น ยังไม่ดับไป ก็ทำให้เจริญเติบโต และเผล็ดผลต่างๆเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทุกท่านก็ทราบดีว่า ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ยังมีอกุศลเหตุ ๓ ทั้งโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ และเมื่อเป็นพระอริยบุคคลก็ลดลงไป จนกระทั่งถึงเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ดับทั้งฝ่ายอกุศลเหตุ ๓ และโสภณเหตุ ๓ แต่ว่ามีอัพยากตเหตุ ไม่ใช่อกุศลเหตุและกุศลเหตุ
นี่เป็นความละเอียดค่ะ ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะสังเกตพยัญชนะที่ว่า เหตุมี ๖ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นโสภณเหตุ ๓ แทนที่จะใช้คำว่า เป็นอกุศลเหตุ ๓ และเป็นกุศลเหตุ ๓ ไม่ใช้คำนั้นนะคะ แต่ใช้คำว่า เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นโสภณเหตุ ๓
นี่เป็นเหตุที่คำว่า “โสภณ” ไม่ได้หมายความถึงกุศลเท่านั้น แต่หมายความถึงกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องของเหตุ ๖ ซึ่งได้แก่เจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ๖ ดวง