สเหตุก แยกออกเป็นประกอบกับเหตุกี่เหตุ
และนอกจากนั้น ในจิตประเภทที่เป็นสเหตุกะ ก็ยังจำแนกออกว่า ประกอบด้วยเหตุกี่เหตุ บางครั้งประกอบด้วยเหตุเดียว คือ ประกอบด้วย โมหเหตุ เหตุเดียวเท่านั้น เป็น “โมหมูลจิต” บางครั้งประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ โมหเหตุและโลภเหตุ จึงเป็น “โลภมูลจิต” และบางครั้งที่ประกอบกับ ๒ เหตุ คือ โมหเหตุและโทสเหตุ จึงเป็น “โทสมูลจิต”
ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า “เอกเหตุกะ” และคำว่า “ทวิเหตุกะ” และคำว่า “ติเหตุกะ” ก็เป็นศัพท์ภาษาบาลีเท่านั้นนะคะ ซึ่งถ้าขณะใดประกอบด้วยเหตุเดียว เช่น โมหมูลจิต ก็เป็น “เอกเหตุกะ” เพราะเหตุว่าประกอบด้วยโมหเจตสิกเท่านั้นที่เป็นโมหเหตุ เหตุเดียว
สำหรับโลภมูลจิต ไม่ได้ประกอบเฉพาะโมหเจตสิกเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โลภเจตสิกด้วย จึงเป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้นสำหรับโลภมูลจิตเป็นสเหตุกะ และเป็นทวิเหตุกจิต เพราะเหตุว่าประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โมหะและโลภะ
สำหรับโทสมูลจิต ก็เป็นสเหตุกจิต และทวิเหตุกะ เพราะประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โมหเหตุ และโทสเหตุ
ทางฝ่ายกุศลที่จะไม่มีเหตุเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิด จะต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ เพราะฉะนั้นสำหรับทางฝ่ายกุศล ไม่มีเอกเหตุ แต่มีทวิเหตุ คือ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ บางครั้งก็เป็น ติเหตุกะ คือ ประกอบด้วย ๓ เหตุ คือ ประกอบด้วย อโลภเหตุ อโทสเหตุและอโมหเหตุ “อโมหะ” คือ ปัญญา หรือญาณนั่นเอง
ชีวิตประจำวันอีกเหมือนกัน ซึ่งทุกท่านก็พอจะทราบได้ว่า ขณะไหนเป็นสเหตุกะ และขณะไหนเป็นอเหตุกะ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏละเอียดขึ้น ต้องละเอียดขึ้นด้วย
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ วันนี้ มีการบ้านใช่ไหมคะ ที่จะคิดว่า
“เหตุ” ได้แก่อะไร “นเหตุ” มีอะไรบ้าง “สเหตุกะ” คืออะไร “อเหตุกะ” คืออะไร ทางฝ่ายกุศล มีกี่เหตุ ทางฝ่ายอกุศลมีกี่เหตุ?