ทวิปัญจวิญญาณกุศลวิบาก เป็นอโสภณจิต


    “จักขุวิญญาณ” เป็นสภาพธรรมที่มีจริง กระทำกิจเห็น แต่ว่าต่างกันโดยกรรม เป็น ๒ ประเภท คือ เห็นสิ่งที่ไม่ดีขณะใด เป็นอกุศลวิบากขณะนั้น เห็นสิ่งที่ดี น่าพอใจขณะใด เป็นกุศลวิบากในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นทางตาที่เห็นเป็นจักขุวิญญาณ มี ๒ ดวง ๒ ประเภท ต่างกันตามกรรม คือ เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ๑ และเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม ๑

    ทางหูก็เหมือนกันค่ะ ที่ได้ยินเสียงเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นผลของอดีตกรรม ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ดี ที่น่าพอใจ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นโสตวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก เกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แต่ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อยากจะเปลี่ยนให้ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นจิตเกิดขึ้นเป็นผลของอดีตอกุศลกรรม

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน แต่ว่าจักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่เห็นสิ่งที่ดี โสตวิญญาณซึ่งเป็นกุศลวิบาก ซึ่งได้ยินเสียงที่ดี ฆานวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่ได้กลิ่นที่ดี ชิวหาวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่ได้รสที่ดี กายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่กระทบโผฏฐัพพะที่ดี ไม่ประกอบด้วยโสภณเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก โสตวิญญาณกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบาก เป็นอโสภณจิต

    นี่น่ะค่ะที่จะต้องทราบความต่างกันของความหมายของคำว่า “โสภณ” กับ “อโสภณ” เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า กุศลวิบากทั้งหมดเป็นโสภณจิต

    นี่เป็นความต่างกันนะคะของชีวิตประจำวันในแต่ละขณะ


    หมายเลข 7392
    4 เม.ย. 2564