อุปมาเปรียบเทียบขันธ์ ๕
เพราะฉะนั้นขันธ์ทั้ง ๕ จึงได้อุปมาเปรียบเทียบว่า
รูปขันธ์เหมือนกับภาชนะที่รองรับความรู้สึกที่ยินดี เวทนาขันธ์อุปมาเหมือนกับอาหารที่อยู่ในภาชนะนั้น สัญญาขันธ์อุปมาเหมือนกับกับข้าวชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ปรุงให้เกิดความยินดีขึ้น
เพราะคงจะไม่มีความพอใจที่จะกินข้าว โดยที่ไม่มีกับ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีสัญญาที่เพิ่มเติมรสของความรู้สึกนั้นขึ้นอีก ที่จะให้ยินดีอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง
สังขารขันธ์เปรียบเหมือนพ่อครัวนักปรุง
อาหารนี้ถ้าไม่มีพ่อครัว แม่ครัวที่มีฝีมือ จะเป็นอย่างไร มีผัก มีเนื้อ แต่ไม่มีพ่อครัว แม่ครัวที่มีฝีมือ รสชาดของอาหารนั้นจะเป็นอย่างไรคะ รับประทานได้ รับประทานลง อร่อยไหม ก็ไม่เหมือนกับพ่อครัวที่มีฝีมือ เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ปรุงรสต่างๆขึ้นเป็นสัญญา กับข้าวต่างๆ พร้อมทั้งรสของอาหารซึ่งมีรูปเป็นเครื่องรองรับอยู่
วิญญาณขันธ์ คือ ผู้เสวย หรือผู้รับประทาน ผู้บริโภครสนั้นๆ เพราะเหตุว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์