เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้แผนกหนึ่ง


    ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ซึ่งเป็นอรรถกถาของอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความว่า

    ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้แผนกหนึ่ง

    คือ เจตสิกมี ๕๒ ประเภท แต่ว่าเวทนาเจตสิก ๑ แยกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ แยกเป็นสัญญาขันธ์ สำหรับเจตสิกอื่น ๕๐ ที่เหลือ รวมเป็นสังขารขันธ์ หมายความว่า เจตสิกแต่ละดวง ทุกดวงของ ๕๐ ดวงนั้น ล้วนเป็นสังขารขันธ์

    จึงมีคำถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้แผนกหนึ่ง

    แก้ว่า เพราะ “เวทนา” เป็นความยินดีในวัฏฏธรรม และ “สัญญา” เป็นอุปกรณ์เกื้อหนุนความยินดีนั้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้ต่างหาก เพราะเป็นเหตุที่เป็นประธานแห่งสังสาระ ฉะนี้แล

    สมจริงดังคำที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า เพื่อแยกแสดงส่วนที่ยินดีในวัฏฏธรรมและส่วนที่คอยส่งเสริมส่วนที่ยินดีนั้นต่างหาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงยกขันธ์ ๒ อย่างขึ้นแสดงไว้

    นี่ก็เป็นความจริงในชีวิตประจำวันนะคะ

    เวทนา คือ ความรู้สึก เป็นสภาพที่ยินดีในวัฏฏะ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไม่สามารถดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะในการคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเหตุวายังไม่ได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ถ้าตราบใดลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดดับยังไม่ปรากฏ เมื่อนั้นใครจะแยกความรู้สึกยินดี เปลี่ยนให้เป็นความรู้สึกไม่ยินดีในสภาพธรรมซึ่งดูเสมือนเที่ยง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะคิดว่าไม่ยินดี แม้จะพูดว่าไม่ยินดี แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับ จะกล่าวไม่ได้ว่า เป็นความไม่ยินดีโดยแท้จริง ตรงกันข้ามกลับเป็นเพียงโทสะ ความเบื่อ ความระอา แต่ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ความเกิดดับ


    หมายเลข 7407
    21 ส.ค. 2558