ไม่รู้ปรมัตถสัจจะ จึงถือรูปและนามที่เกิดดับว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พอจะทราบได้ว่า ได้ศึกษาคำว่า “ปรมัตถธรรม” “ปรมัตถสัจจะ” มีความเข้าใจว่า ปรมัตถธรรม ได้แก่ จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพที่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เจตสิกปรมัตถ์ เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมเกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต
รูป ไม่ใช่สภาพรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะสมุฏฐานต่างๆ เช่น บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรม มีกรรมเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้น บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นร้อน เป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน
แต่ในขณะนี้เอง จิต เจตสิก รูป กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว จนไม่ปรากฏอาการที่เกิดขึ้นและดับไปของจิต เจตสิก รูป เมื่อไม่รู้ปรมัตถสัจจะอย่างนี้ จึงถืออาการของรูปและนาม ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือ สัมมุตติ
ขณะนี้รูปกำลังเกิดดับทั้งภายในที่ตัวเอง และภายนอกที่ปรากฏ ที่เห็นทางตา หรือได้ยินทางหู แต่เพราะไม่ประจักษ์ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปแต่ละลักษณะ
รูปทางตาก็เกิดดับ รูปทางหูก็เกิดดับ รูปทางจมูกก็เกิดดับ รูปทางลิ้นก็เกิดดับ รูปที่กายที่กำลังกระทบสัมผัสก็เกิดดับ แต่เพราะไม่ประจักษ์ รูปที่เกิดดับสืบต่อกันทางตา จึงปรากฏสัณฐาน อาการ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น นั่นคือ “สัมมุตติ”
เพราะฉะนั้นทุกท่านที่ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จึงอยู่ในโลกของสมมติสัจจะ มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาการ โดยสัณฐาน ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น แต่เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว และรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะค่อยๆศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าลักษณะของปรมัตถธรรมจะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนและเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น ก็สามารถที่จะประจักษ์แม้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จึงจะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ตามที่ได้ศึกษามา
แต่ให้ทราบความต่างกันในความลึกซึ้งของธรรมที่ได้ศึกษามาว่า ตราบใดที่ปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนของจิต เจตสิก และรูป ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตราบนั้นก็ยังเห็นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังมีความยึดถือในสมมติสัจจะอยู่ว่า เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนต่างๆ