ปรมัตถธรรม - สมมติธรรม - บัญญัติธรรม
ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ซึ่งเป็นฎีกาของอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความอธิบายเรื่อง ปรมัตถธรรม สมมติธรรม และบัญญัติธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นชีวิตประจำวัน แต่ก็มีความลึกซึ้งที่ควรที่จะได้มีความเข้าใจโดยถูกต้อง แม้แต่เรื่องชื่อต่างๆ ซึ่งจะมีได้ก็เพราะมีเสียง
ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา มีว่า
ด้วยเหตุนี้ เสียง คือ “สัททรูป” จึงชื่อว่า “นาม” (หมายความถึง ชื่อ ไม่ใช่นามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้) เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย
จริงหรือไม่จริงคะ วันหนึ่งถ้าไม่พูดเลยก็เห็น แต่เวลาที่พูดนี้ พูดเรื่องอะไร พูดทำไม พูดเพื่อให้คนเข้าใจเรื่อง เข้าใจสิ่งที่หมายถึง เพราะฉะนั้น “สัททรูป” จึงชื่อว่า “นาม” เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย
อยู่ด้วยกัน ๒ คน เห็นกันอย่างนี้ ถ้าไม่พูด จะไม่รู้เรื่องเลย จะไม่เข้าใจเลยว่า ต้องการอะไร ถูกไหมคะ แต่เวลาที่จะให้คนอื่นต้องการ หรือเข้าใจ ต้องทำอย่างไรคะ ต้องใช้เสียง คือ ต้องพูด ถ้าไม่มีเสียง แล้วไม่มีทางเลยที่จะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้เสียงหรือสัททรูป ชื่อว่า “นาม” เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย