คำอธิบายเกี่ยวกับเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง


    ผู้ฟัง อยากจะได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบเรื่องจิตก็จะทราบว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีสภาพธรรมปรุงแต่งไม่ได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจะไม่เกิดเพียงลำพัง แต่จะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เจตสิกก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เราอาจจะไม่คุ้นกับคำว่าเจตสิกเลยถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะว่าส่วนใหญ่จะได้ยินคำว่า “จิต” และก็คำว่า “ใจ” แต่เจตสิกในชีวิตประจำวันไม่ได้ยิน แต่ได้ยินคำว่า “โกรธ” ได้ยินคำว่า “สุข” ความรู้สึกที่เป็นสุข หรือได้ยินคำว่า เจ็บ ปวด เมื่อย ทั้งหมดนี้คือเจตสิก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็จะไม่เกิดกับสภาพธรรมอื่นเลยนอกจากเกิดกับจิต

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้น ก็จะมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดกับจิต เกิดในจิตก็ได้ หรืออาศัยจิตก็ได้ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจิตต้องอาศัยเจตสิกเกิดขึ้น และเจตสิกก็อาศัยจิตเกิดขึ้น ทั้งสองอย่างจะปราศจากกันไม่ได้เลย แต่การที่จิตในวันหนึ่งๆ หลากหลายก็เพราะเหตุว่าจิตบางขณะมีเจตสิกประเภทนี้เกิดร่วมด้วย และจิตบางขณะก็มีเจตสิกประเภทอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น ในขณะที่โกรธ มีความขุ่นเคืองใจ จะมีเจตสิกซึ่งรู้สึกเพลิดเพลินยินดีในขณะนั้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าตามความเป็นจริงชีวิตซึ่งเราคิดว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คือจิต และเจตสิกแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจการงานของจิต และเจตสิกนั้นๆ นี่คือเราคิดว่าเราทำ แต่ความจริงไม่มีเราเลย เช่น ขณะที่กำลังเห็นเราคิดว่าเราเห็น แต่เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลของกรรมที่ทำให้จิตนี้เกิดขึ้นต้องเห็น ถ้านอนหลับสนิทขณะนั้นไม่เห็น แต่ว่าเราก็นอนหลับสนิทตลอดเวลาไม่ได้ ก็ต้องมีกาลเวลาที่ตื่นขึ้น และเห็น และก็เลือกเห็นไม่ได้ด้วย ต้องเป็นไปตามกรรมว่าจะเห็นอะไรสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ แต่ขณะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงจิตใดขณะไหน ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย พอจะเข้าใจลักษณะของเจตสิกใช่ไหม

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 92


    หมายเลข 7443
    22 ม.ค. 2567