ความต่างของจิตกับเจตสิก
ความต่างของจิตกับเจตสิกก็คือ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ในขณะนี้ เช่น เห็น จะเห็นโต๊ะ เก้าอี้เป็นรูปนั้น เห็นแบบนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นลักษณะที่เห็นมีจริงๆ เป็นสภาพที่สามารถจะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างไร ไม่เปลี่ยนเลย จะเปลี่ยนเป็นไปเห็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเห็นเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าเราหันหน้าไปอีกทาง สิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หันซ้าย หันขวา สิ่งที่ปรากฏก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏจะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อมีจิตเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏได้ต่อเมื่อมีจิตเห็นเกิดขึ้น ถ้าจิตเห็นไม่เกิดสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะเกิดไม่ได้เลย ฉะนั้นในขณะนี้ความต่างของจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ก็คือจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตไม่ใช่ปัญญา จิตเพียงแต่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีเรียกสิ่งที่ถูกจิตรู้ว่า "อารัมมณะ" หรือ "อาลัมพนะ" แต่ภาษาไทยเราใช้คำนี้ตัดสั้นๆ เป็นอารมณ์ และความหมายก็ไม่ได้มาจากความเข้าใจธรรม เพียงแต่นำคำนั้นมาใช้ ถ้าเป็นความเข้าใจธรรมก็จะเข้าใจได้ว่าขณะใดก็ตามที่พูดถึงคำว่า อารมณ์ หมายความว่าเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้น เช่น เสียงกำลังปรากฏเพราะจิตกำลังได้ยินเสียงนั้น
เพราะฉะนั้นจิตได้ยินมีอารมณ์คือเสียงที่กำลังปรากฏ แล้วจิตก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งเฉพาะลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เช่นเสียงในขณะนี้เป็นอย่างนี้ อีกเสียงหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสียงใดๆ ทั้งสิ้น จิตสามารถจะรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น ในขณะที่เจตสิกซึ่งเกิดกับจิตต่างก็ทำหน้าที่เฉพาะอย่างๆ ของเจตสิกประเภทนั้นๆ
ที่มา ...