ทุกข์ทางกายเป็นปรมัตถธรรมอะไร
ท่านอาจารย์ เวทนาเป็นเรา หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ไม่เป็น แล้วเป็นอะไร ในเมื่อปรมัตถธรรมสภาพธรรมที่มีจริงโดยประเภทแล้วมี ๔ แต่หลากหลายโดยเฉพาะจิต เจตสิก รูป ต่างๆ กันไป ในตอนนี้เราไม่กล่าวถึงนิพพานเลย เพราะจะกล่าวถึงเพียงเฉพาะจิต เจตสิก รูป ความรู้สึกเจ็บ หรือทุกข์ทางกาย เป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นจิต หรือว่าเป็นเจตสิก หรือว่าเป็นรูป
ผู้ฟัง เป็นความรู้สึก
ท่านอาจารย์ ความรู้สึก เป็นปรมัตถธรรมอะไร ให้คุ้นหูว่าปรมัตถธรรมคือธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นปรมัตถ์ อรรถ คือ ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะนั้นเป็นอย่างอื่นได้เลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเปลี่ยนความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นให้เป็นทุกข์ก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนเห็นในขณะนี้ให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ นี่คือลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นความรู้สึกเป็นปรมัตถธรรมอะไร มีทางให้เลือก ๓ คือ เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป (ความรู้สึกปวด)
ผู้ฟัง เป็นจิต
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี่แสดงว่าเราต้องแยกลักษณะของจิต และเจตสิก จิตไม่ปวด ไม่เจ็บ ไม่รู้สึกอะไร แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อาจจะเป็นคำใหม่ที่ยาวเป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น มองก็ไม่เห็นแต่มี เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ไม่ว่าอะไรจะปรากฏตั้งแต่เช้ามาจนถึงขณะนี้เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตมีหน้าที่อย่างเดียว คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะนี้ไม่ใช่หน้าที่ หรือลักษณะของสภาพธรรมอื่นเลยนอกจากจิตปรมัตถ์ กำลังเห็น ถามว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง รูป
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คือถ้าคิดอีกนัยหนึ่ง เมื่อไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก แล้วจะเหลืออะไร ใช่ไหม ที่บอกว่ารูป เดา หรือว่าคิด หรือว่าพิจารณาโดยฟังเหตุผลว่าไม่มีอื่นอีกแล้วเหลืออย่างเดียว
ผู้ฟัง เดา
ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วเราได้ยินคำว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป แต่เราเคยชินกับรูปที่เป็นเก้าอี้ รูปที่เป็นต้นไม้ รูปที่เป็นอาหาร เป็นนก เป็นปลา เราเคยชินกับรูปอย่างนั้น แต่เราไม่เคยที่จะรู้เลยว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย จะให้ไปปรากฏทางหู จะให้ไปปรากฏทางกายก็ไม่ได้ สิ่งนี้สามารถจะปรากฏได้ทางเดียวคือทางตา แต่ด้วยความไม่รู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เกิดดับ หรือไม่ ต้องเกิดดับ แต่ไม่รู้เพราะว่าเกิดดับเร็วจนกระทั่งเหมือนไม่ดับเลย เพราะฉะนั้นก็จะทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เห็น รูปร่างสัณฐานอย่างนี้เพราะความทรงจำจากขณะที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วก็ทรงจำในรูปร่างสัณฐานก็คิดเป็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่าเที่ยง เช่น เป็นคนซึ่งไม่ดับเลย เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอะไรทั้งหมดซึ่งไม่ดับเลย นั่นคือผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นการมีโอกาสได้ฟังพระธรรมซึ่งปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความไม่รู้ไม่ใช่เฉพาะชาติเดียว กี่ชาติมาแล้วที่ไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่รู้จนกว่าจะได้ฟัง และการฟังก็คงจะไม่ได้ฟังเฉพาะชาตินี้ชาติเดียว คงจะได้เคยฟังมาแล้วบ้างในอดีต แต่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการฟังของแต่ละท่านมากพอที่ปัญญาสามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏเมื่อไหร่ เมื่อนั้นคือการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามลำดับ คือ ทุกขอริยสัจ สมุทัยอริยสัจ นิโรธอริยสัจคือนิพพาน และหนทางคือมรรคอริยสัจ นี่กล่าวย่อๆ ในภาษาไทยไม่ได้กล่าวเต็มตามภาษาบาลี แต่ก็ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วกว่าจะรู้ กว่าจะเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริง และไม่ใช่สัตว์ บุคคลเลย เป็นเพียงชั่วขณะจิตเห็นเกิด จะเป็นเราได้อย่างไรเพราะจิตเห็นก็ดับ รูปก็ดับด้วย แต่ก็ต้องค่อยๆ ศึกษาไปให้เข้าใจ
เพราะฉะนั้นก็พอที่จะทราบลักษณะของจิตซึ่งต่างกับเจตสิกว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ส่วนเจตสิกที่เกิดกับจิตก็แล้วแต่ว่าเจตสิกนั้นเป็นเจตสิกอะไร เช่น เจตสิกชนิดหนึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ เรามีความรู้สึกทั้งวัน แต่ไม่เคยรู้เลย เห็นก็มีความรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งถ้าเป็นจิตเห็นขณะนี้ความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอุเบกขาเวทนา เป็นความรู้สึกเฉยๆ เพราะยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไร จะรัก จะชัง จะชอบ จะโกรธก็ไม่ได้ทั้งสิ้นเพราะว่าเพียงเห็นแล้วก็ดับ แล้วก็เร็วมาก เร็วเหมือนฟ้าแลบ เพียงเห็นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตเห็นจึงเป็นอุเบกขาเวทนา เวทนาที่เกิดกับจิตได้ยินก็เช่นเดียวกัน อุเบกขาเวทนา เวทนาที่เกิดกับจิตขณะที่กลิ่นเหม็นปรากฏ เวทนาที่เกิดกับจิตที่ได้กลิ่นเป็นอะไร อุเบกขาเวทนา ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรสไม่ว่าจะเป็นรสอะไรทั้งสิ้น จิตที่ลิ้มรสเพียงลิ้มรสแล้วก็ดับ รสนั้นก็ดับด้วยมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จิตลิ้มรส ก็มีความรู้สึกเป็นอุเบกขาเวทนา สำหรับทางกายทางเท่านั้นซึ่งเมื่อกระทบสัมผัสแล้วจะต้องเป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา ความรู้สึกสบาย หรือว่าทุกขเวทนาซึ่งไม่สบาย ก็เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นว่าความจริงเป็นเช่นนี้
ที่มา ...