เวทนาที่เกิดจิตซึ่งไม่ใช่วิถีจิต เป็นอุเบกขาหรือไม่


    ผู้ฟัง ภวังคจิต ปฏิสนธิจิต จุติจิต ซึ่งไม่ได้เป็นจิตที่เป็นวิถี เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นอุเบกขา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นี้ก็คือความสงสัย แต่ผู้ที่เริ่มฟัง หรืออาจจะมาวันนี้ก็คงจะมี จึงจะต้องพูดถึงเรื่องของภวังค์ก่อน ถ้าพูดถึงภวังค์ก็หมายความถึงจิตแน่นอน รูปไม่เป็นภวังค์ เพราะว่าคำว่า “ภวังค์” หมายความถึงสภาพที่ดำรงภพชาติ มาจากคำว่า “ภวะ” กับ “อังคะ” จิตซึ่งเกิดขึ้น และทำกิจดำรงภพชาติจนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้ายซึ่งจะทำให้เคลื่อนพ้นจากการเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสำหรับภวังคจิต ถ้าพูดถึงภวังค์หมายความถึงกิจของจิต เพราะว่าการที่จะกล่าวถึงจิตกล่าวได้โดยหลายนัย กล่าวโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ได้ เช่น โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ถ้ากล่าวแบบนี้ก็แสดงว่าจิตมีโลภะเป็นมูล เป็นเหตุ เป็นรากที่มั่นคงที่ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้น คือ โลภมูลจิต แต่ถ้ากล่าวถึงจักขุวิญญาณ (จิตเห็น) หมายความว่าขณะนั้นมีจักขุปสาท แล้วก็มีวิญญาณคือสภาพที่รู้โดยต้องอาศัยจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้นเมื่อที่กล่าวถึงภวังคจิตหมายความถึงกิจหน้าที่ของจิต เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่มีเราทำงาน ไม่มีเลย เพราะว่าไม่มีเราสักขณะหนึ่ง มีแต่จิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานเฉพาะจิตนั้นๆ ที่มีเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรก เรียกจิตนี้ตามกิจคือเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน การที่ปฏิสนธิจิตขณะแรกเกิดขึ้นในชาตินี้ได้ต้องมีจุติจิตของชาติก่อนดับไป เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น และกรรมที่เป็นชนกกรรรมคือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิก็ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นเกิดขึ้นทำกิจแรกในภพหนึ่งชาติหนึ่ง คือ ปฏิสนธิกิจ ในชาติหนึ่งๆ จะมีปฏิสนธิจิตหลายขณะได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องมีขณะเดียว ชาติหนึ่งจะมีจุติจิตหลายๆ ขณะได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ชาติหนึ่งจะมีภวังคจิตหลายๆ ขณะได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าดำรงภพชาติระหว่างที่ยังไม่มีการเห็น ยังไม่มีการได้ยิน ยังไม่มีการได้กลิ่น ยังไม่มีการลิ้มรส ยังไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่มีการคิดนึกใดๆ เลย ในขณะนั้นรู้ตัวไหมว่าเป็นใคร ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่จิตกำลังเกิดดับทำภวังคกิจดำรงภพชาติ ขณะนั้นรู้ไหมว่าเป็นใคร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ชื่ออะไรรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ไหนรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ มีญาติพี่น้อง

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ มีทรัพย์สมบัติ

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีเมื่อคิด แต่ขณะที่จิตไม่ได้เกิดขึ้นเลยจะมีอะไรนอกจาก “เรา” ก็ไม่มี แต่มีจิตเกิดขึ้นเกิดดับดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะเห็นเมื่อใด ได้ยินเมื่อใด ได้กลิ่นเมื่อใด ลิ้มรสเมื่อไหร่ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเมื่อใด คิดนึกเมื่อใด ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นในขณะที่เป็นภวังคจิตต้องเป็นจิตชาติวิบากเป็นผลของกรรมที่ทำให้ยังไม่ตาย เกิดแล้วก็ยังตายไม่ได้ เกิดมาแล้วก็ตายไปจะมีประโยชน์อะไร กรรมยังไม่ได้ให้ผลเพียงพอ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ได้ทำให้เพียงแค่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ ยังทำให้ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อ ปฏิสนธิจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง มี เพราะว่าจิตทุกดวงต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ จิตใดไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ต้องยืนยันว่าไม่มี จิตใดไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องบอกว่าไม่มี แล้วเวลาที่จิตเกิดขึ้นกำลังรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จิตนั้นมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่ปฏิสนธิ ไม่มีใครรู้สึกตัวเลย ขณะแรกไม่มีใครรู้สึกตัวเลย ขณะที่จุติก็อย่างนั้นเลย ไม่มีใครรู้สึกตัว สบายมาก เห็นอย่างนี้ จุติจิตเกิดก็ได้ ไม่ทันต้องตกใจเกรงกลัวอะไรเลยแล้วแต่กรรมว่าจะทำให้จุติจิตเกิดเมื่อใด ฉะนั้นผู้ที่เข้าใจธรรมก็จะไม่หวั่นไหว กำลังปวดกำลังเจ็บเข้าใจว่าจะตายก็ไม่ตายก็เป็นแค่ปวดเจ็บเพราะว่าจุติจิตไม่เกิด ฉันใด ถ้าใครคิดว่ากำลังใกล้จะตายทรมานมากเป็นโรคภัยไข้เจ็บปวดอย่างนี้ แต่เมื่อจุติจิตเกิดจริงๆ ก็คือไม่รู้ตัว ก็เกิดแล้วในชาติต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกรงกลัวหวั่นเกรงเลย ถ้าคิดว่าจะสูญเสีย มาอีกแล้วต้องเป็นคนใหม่ มีเห็น มีได้ยิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนชาตินี้ที่จากชาติก่อนมาก็มาสู่การเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ เกิดร่วมกับภวังคจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ เกิดร่วมกับจิตได้ยิน หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดกับจิตใด

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แน่นอน เพราะว่าต้องเป็นสังขารขันธ์ซึ่งมีเจตสิกปรุงแต่งเกิดขึ้น คำถามของคุณสุกัญญาหมายความว่าปฏิสนธิจิตจะมีเวทนาอะไร?จะเป็นอุเบกขา หรือไม่ ในความเป็นจริง ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบากผลของกุศล อกุศลก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ จิตมี ๔ ชาติ เพราะว่าจิตที่เกิดมาต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ไม่ใช่ชาติจีนชาติไทย แต่เป็นชาติของจิตว่าเป็นกุศล เกิดขึ้นเป็นกุศล จะเปลี่ยนให้เป็นอกุศลไม่ได้ เกิดแล้วเป็นกุศลแล้วดับ ถ้าเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็จะเปลี่ยนอกุศลนั้นให้เป็นวิบากก็ไม่ได้ เพราะว่าเกิดแล้วเป็นอกุศลแล้วก็ดับ ถ้าจิตที่เกิดขึ้นแล้วเป็นผลของกรรมไม่ว่าจะนานแสนนานมา แต่กรรมก็เป็นสภาพที่มีพลังแรงจริงๆ จะทำให้วิบากจิต และกัมมชรูปเกิดได้ไม่ว่าจากแสนโกฏิกัปป์ที่กรรมนั้นดับไปแล้วก็ได้ ถ้ากรรมนั้นยังสามารถเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด วิบากจิตนั้นก็เกิดเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นสำหรับอุเบกขาเวทนาเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ สำหรับกิริยาจิตส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์ สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิตซึ่งเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ โสมนัสก็มี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีโสมนัสเวทนา และมีอุเบกขาเวทนา มีทุกขเวทนาเพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีกายอยู่ ทุกข์กายก็ต้องเกิด สุขกายก็มี แต่ไม่มีโทมนัสเวทนา เพราะเหตุว่าโทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกับความหยาบกระด้างที่เป็นโทสะ ทุกคนก็คงรู้จักลักษณะของโทสะ ขณะนั้นเวทนาไม่สบายแน่ๆ ที่เกิดร่วมกับโทสะ เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่จะไม่ชอบโทสะ เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา

    สำหรับโทมนัสเวทนาเวทนาเดียวเท่านั้น ที่เป็นอกุศลจะไม่เกิดกับวิบากจิต ต่อไปก็จะทราบว่าเวทนาที่เกิดกับวิบาก เช่น ทุกขเวทนา สุขเวทนาทางกาย หรืออุเบกขาเวทนาซึ่งเป็นวิบากเพราะเกิดกับจิตเห็น จิตได้ยินพวกนี้ก็แยกไปละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต เป็นวิบากจิต จะไม่มีโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยเลย แต่จะมีโสมนัสก็ได้ อุเบกขาก็ได้ ถ้าแยกทุกข์ทางกายกับทุกข์ทางใจ ทุกข์ทางใจก็เป็นโทมนัสเวทนาเป็นชาติอกุศล สำหรับทางกายก็เป็นวิบาก ปฏิสนธิจิตไม่ใช่วิบากจิตที่รู้อารมณ์ทางกาย เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็ไม่มีทุกขเวทนา ไม่มีสุขเวทนา ไม่มีโทมนัสเวทนาเลย จะเหลือเพียงอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนาเท่านั้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93


    หมายเลข 7448
    17 ก.ย. 2567