ผู้ที่เรียนจบสูง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นติเหตุกปฏิสนธิ


    ผู้ฟัง ปัจจุบันคนที่เรียนสูงจนกระทั่งถึงปริญญาเอก หรือว่าเรียนแพทย์เรียนวิศวะ จำเป็นไหมว่าคนพวกนี้จะต้องเป็นติเหตุกปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าเหตุ ๓ คืออะไร ที่ว่าเป็นอเหตุกะ เป็นทวิเหตุกะ เป็นติเหตุกะ เพราะสภาพธรรมมีจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นเหตุ ได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ ถ้ากล่าวโดยปรมัตถธรรม ๓ เหตุนี้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกทั้ง ๓ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราเลย ขณะที่โกรธเมื่อไหร่ก็คือโทสเจตสิกเกิด ขณะที่ติดข้องเมื่อไหร่ก็โลภเจตสิกเกิด ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงขณะนั้นก็โมหเจตสิกเกิด ทั้ง ๓ เหตุเป็นอกุศลชาติเดียว เป็นวิบากไม่ได้ ถ้าโลภะเกิดเมื่อใดเป็นเหตุที่เป็นอกุศล ถ้าโทสะเกิดเมื่อใดก็เป็นเหตุที่เป็นอกุศล ถ้าโมหะเกิดเมื่อใดก็เป็นเหตุที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นขณะปฏิสนธิเป็นผลของอกุศลกรรมซึ่งอกุศลกรรมก็ต้องมีอกุศลเหตุ คือโลภเหตุ โมหเหตุ หรือโทสเหตุ โมหเหตุ ทำให้เกิดอกุศลกรรมนั้นๆ เป็นเหตุ เกิดแล้วดับแล้ว แต่เมื่อเป็นปัจจัยให้เกิดผล โลภะ โทสะ โมหะ จะเกิดร่วมกับวิบากไม่ได้เลย เป็นได้ชาติเดียวคือเป็นอกุศล เป็นกุศลไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้ เป็นวิบากไม่ได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นผลของอกุศลกรรม แต่อกุศลเจตสิกจะเกิดกับวิบากจิตไม่ได้ เพราะเหตุว่าทั้ง ๓ เหตุนี้เกิดเมื่อใดเป็นเหตุ คือ เป็นอกุศลเหตุเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผลของอกุศลกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากเกิด ถ้าเราศึกษาโดยชื่อเพราะว่าอกุศลวิบากจะมีบอกไว้เลยว่ามีเท่าไหร่ ไม่มากเลย เพียง ๗ ประเภทเท่านั้นเอง และประเภทหนึ่งก็คืออุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจ ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอเหตุกปฏิสนธิ เริ่มจากการที่ว่าปฏิสนธิก็หลากหลาย ปฏิสนธิที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย และก็ปฏิสนธิที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินว่าปฏิสนธิไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ทราบเลยว่าต้องเป็นอกุศลวิบากปฏิสนธิเป็นผลของอกุศลกรรม ปฏิสนธิจิตของนกเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ประเภทไหน อเหตุกะ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะถ้ากล่าวโดยเหตุ ยังไม่กล่าวโดยประเภทของจิตที่ทำกิจนั้นก็ทราบว่าเป็นอเหตุกะ ปฏิสนธิจิตของช้างเป็นอะไร

    ผู้ฟัง อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ อเหตุกปฏิสนธิอกุศลวิบาก มด งู ช้าง นก หรือรูปร่างน่ารักสวยงาม เป็นสุนัขพันธุ์ต่างๆ หรืออะไร ก็คือปฏิสนธิทั้งหมดของภูมินั้นคือภูมิของสัตว์เดรัจฉานก็เป็นอเหตุกะ ถามว่า ในนรก จิตอะไรทำปฏิสนธิ อเหตุกอกุศลวิบาก คือ อกุศลวิบาก และเป็นอเหตุกะด้วย เพราะเหตุว่าจะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับอกุศลวิบาก เปรต ปฏิสนธิจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ทุกคนที่จากโลกนี้ไปแล้ว ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล มีสิทธิ์ไหม ที่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วจะทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นภูมิใด แต่ที่ได้มาเกิดในภูมิมนุษย์ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม สำหรับเหตุที่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากมีเฉพาะทางฝ่ายที่เป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้น แต่กุศลกรรมก็ต่างกัน บางกรรมก็จะมีอโลภะ อโทสะเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หากได้พิจารณาถึงกุศลในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก จะเป็นกุศลไม่ได้เลย แต่ขณะใดที่เป็นกุศลแม้ว่าจะเล็กน้อยสักเท่าไหร่ ขณะนั้นก็ต้องมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณเจตสิกอื่นๆ แต่โสภณเจตสิกอื่นไม่ใช่เหตุ เพราะว่าเหตุจะมีเพียง ๖ เท่านั้น ทางฝ่ายอกุศล คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเหตุ แต่ทางฝ่ายดีงาม คือฝ่ายกุศลที่เป็นเหตุ จะมีอโลภเจตสิก คือไม่โลภ ไม่ติดข้อง อโทสเจตสิก ไม่ขุ่นเคือง ไม่หยาบกระด้าง และอโมหเจตสิก คือ ปัญญาเจตสิก นี่เป็นเหตุฝ่ายดี

    เพราะฉะนั้น สำหรับทางกุศล เวลาที่ได้กระทำกรรมซึ่งเป็นเหตุ เราก็สามารถที่จะรู้ตัวของเราได้ ว่ากรรมที่เรากระทำในขณะนั้นประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ ถ้าเป็นการให้ทาน การช่วยเหลือบุคคลอื่น การอนุโมทนาในกุศล หรือ การที่จะเป็นผู้ที่มีกิริยาวาจาที่อ่อนน้อม เหล่านี้ก็เป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบก็ตาม แต่ต้องประกอบด้วย ๒ เหตุคือ อโลภเจตสิก และ อโทสเจตสิก แน่นอน เพราะฉะนั้นเวลาที่วิบากจิตเกิดขึ้นเพราะผลของกรรมประเภทที่ประกอบด้วยเพียงอโลภะ และอโทสะ กรรมนั้นไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ดังนั้นผลเกิดขึ้นจากกรรมนั้นจะเอาปัญญามาแต่ไหนที่จะเป็นผลของกรรมนั้น ที่จะทำให้วิบากนั้นเกิดร่วมกับปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของกรรมที่เป็นทวิเหตุกะ คือ ทวิ แปลว่า ๒ และจะใช้คำว่า “ทุ” ก็ ๒ เหมือนกัน ทวิเหตุกะ คือ กรรมใดที่ประกอบด้วยเหตุเพียง ๒ เหตุคือ อโลภะ อโทสะ เวลาที่เป็นผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น กุศลวิบากนั้นก็ประกอบด้วยอโลภะ และอโทสะ แต่เป็นชาติวิบาก เพราะเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    แต่ถ้ากรรมใดเป็นกรรมที่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และปัญญาเจตสิกที่มีกำลังพอสมควร ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และอโมหะ คือ ปัญญาเจตสิก แต่ถ้าเป็นปัญญาอ่อนๆ เกือบจะไม่ใช่ปัญญาที่สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม หรือเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม เพียงแต่เข้าใจเพียงเหตุผล เช่น ความกตัญญูเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเข้าใจถูก หรือเห็นว่าการเข้าใจธรรมแม้ว่ายังไม่ได้ศึกษาเลยแต่ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่จริงๆ แล้วมีก็เพียงแต่น้อยมากที่จะเห็นถูกว่าการศึกษาธรรมจะทำให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรม แต่ยังไม่ได้ศึกษาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ ที่มีปัญญาเพียงขั้นเข้าใจแบบนั้น ถ้ากรรมนั้นให้ผลก็จะทำให้ปฏิสนธิเป็นทวิเหตุกะได้ สำหรับกรรมที่เป็นติเหตุกะก็จะให้ผลตั้งแต่เป็นอเหตุกะ ทวิเหตุกะ และติเหตุกะ ก็เป็นเรื่องที่ว่าเราก็พิจารณาชีวิตของเรา และก็สามารถที่จะเข้าใจเหตุ และผลของสิ่งที่ได้กระทำแล้ว และผลที่จะเกิดขึ้น เพียงแต่ไม่รู้ว่ากรรมที่ได้กระทำในชาติหนึ่งๆ ไม่ใช่กรรมเดียว แต่มากมายหลายกรรม รวมทั้งกรรมในชาติก่อนๆ ด้วย ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่ากรรมไหนพร้อมที่จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็ให้ทราบว่าถึงอย่างไรก็ต้องมีผล ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็ต้องให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ถ้าเป็นกุศลกรรมก็ให้ผลเป็นกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง แล้วจะสรุปได้ไหมว่าคนที่เรียนถึงปริญญาระดับสูงเป็นดอกเตอร์ เรียนวิศวะ เรียนแพทย์ ปฏิสนธิด้วยติเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ เกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นผลของกุศลกรรม ไม่ว่าจะจบปริญญาเอก หรือไม่จบปริญญาเอก จะศึกษาจะเรียนระดับอนุบาล หรือประถม หรือมัธยมก็ตามแต่ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แล้วหากเรากล่าวว่ากรรมที่ประกอบด้วยปัญญาให้ผลเป็นวิบากที่ประกอบด้วยปัญญาพร้อมด้วยเหตุ ๓ คืออโลภะ อโทสะ อโมหะ คือปัญญาเจตสิก ต้องค่อยๆ เข้าใจว่าปัญญาเจตสิกคืออะไร ไม่ใช่ปัญญาที่เราเรียกว่าปัญญา เราเรียกได้ เราพูดได้ ในสมุดพกก็มีทั้งสติ ทั้งปัญญา เด็กคนนี้ นักเรียนคนนี้สติปัญญาดี แต่เราพูดในภาษาไทย แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่เป็นปัญญาเจตสิก คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในสภาพธรรม เช่น ขณะที่กำลังฟังธรรม เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา คนที่เรียนปริญญาเอกสาขาอื่นสามารถที่จะคิดเองเข้าใจเองได้ไหมว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าปัญญาเจตสิกไม่ใช่เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ เพราะการศึกษาทางโลกทั้งหมด ไม่ได้เข้าใจสภาพปรมัตถธรรม ไม่เข้าใจตัวจริงของธรรม แต่เข้าใจว่ามีเราซึ่งมีความรู้ระดับขั้นปริญญาเอก โดยไม่รู้เลยว่าขณะนั้นก็คือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดดับตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นการสำคัญตนซึ่งเป็นอกุศล หรือว่าจะเป็นความติดข้องในความรู้ทางโลก หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ศึกษาสภาพธรรมที่มีภาวะของธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง คนที่ไม่ได้ปริญญาใดๆ เลย แต่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ไหม ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาเจตสิกไม่ใช่ปัญญาในภาษาไทย คือทั้งหมดเป็นการศึกษาเรื่องบัญญัติ เรื่องราวของสภาพธรรมจากความทรงจำเป็นวิชาการต่างๆ คือเป็นเพียงความคิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรมซึ่งเป็นสมมติบัญญัติแต่ไม่ใช่การศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม ที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าทุกวิชาการเป็นบัญญัติ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นวิชาแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม หรือ วรรณคดี หรืออะไรทั้งหมด แม้แต่ในขณะนี้เองที่กำลังฟังเรื่องธรรม ถ้าตราบใดที่ไม่ได้มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะแท้จริง เช่น แข็งก็คือแข็ง เสียงก็คือเสียง ไม่ได้รู้ไม่ได้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นเพียงการเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ก็ต่างกับทางโลกซึ่งทางโลกเป็นการเข้าใจเรื่องราวของบัญญัติของธรรม แต่การฟังธรรมเป็นการเข้าใจเรื่องราวของปรมัตถธรรม แต่ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจนกว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะธรรมดาๆ อย่างนี้ไม่เปลี่ยนเลย แต่ค่อยๆ มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง หรือแต่ละลักษณะ นั่นจึงจะเป็นการศึกษาลักษณะจริงๆ เพื่อเข้าใจถูกต้อง เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา จนกว่าจะสมบูรณ์ถึงกาละที่รู้แจ้งสัจจธรรม

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93


    หมายเลข 7449
    22 ม.ค. 2567