บัญญัติที่หมายถึงสิ่งที่มีจริงจะต้องตรงสภาวะใช่หรือไม่
ผู้ฟัง
ท่านอาจารย์ บัญญัติให้รู้อรรถของสิ่งที่มีจริง หรือให้รู้ในสิ่งที่ไม่มีจริง
ซึ่งข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีมีว่า
ก็บัญญัติที่มีความแตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือว่า บัญญัติหมายถึงสิ่งที่มีจริง หรือบัญญัติที่หมายถึงสิ่งที่ไม่มีจริง หรือว่าหมายถึงสิ่งที่ไม่มีจริงกับสิ่งที่ไม่มีจริงด้วยกัน หรือว่าหมายถึงสิ่งที่มีจริงกับสิ่งที่มีจริงด้วยกัน หรือหมายถึงสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มี หรือหมายถึงสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มีรวมกัน ซึ่งต่างออกไปเป็นบัญญัติ ๖
ก็บัญญัติที่มีความแตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วด้วยประการฉะนี้ แม้จะไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ก็เป็นอารมณ์แห่งจิตตุปาท
คือจิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งๆเรียกว่า “จิตตุปาท” จิต กับ อุปาท รวมเป็น จิตตุปาทหมายความถึงขณะจิตหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น
ถึงแม้จะไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ก็เป็นอารมณ์แห่งจิตตุปาท เป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้นโดยอาการ คือ เงาของอรรถถูกกำหนดหมายโดยอาการนั้นๆเพราะเทียบเคียง คือ เปรียบเทียบ ได้แก่ทำอาการมีสัณฐานเป็นต้นนั้นให้เป็นเหตุกล่าวกัน เข้าใจกัน เรียกร้องกัน ให้รู้ความหมายกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกกันว่า “บัญญัติ”
อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า ไม้ก็เป็นไม้ แต่ก็เรียกเป็นโต๊ะ เรียกเป็นเก้าอี้ หรือธาตุดิน ที่เพียงอ่อนหรือแข็ง แต่โดยสัณฐาน ก็เป็นจานบ้าง เป็นถ้วยบ้าง เป็นข้อนบ้าง เป็นส้อมบ้าง แม้ว่าคำบัญญัติเรียก “ช้อน” เรียก “จาน” เรียก “ถ้วย” ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ใช่ไหมคะ ถ้วย จาน ช้อนส้อม ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่ใช่มีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์แท้ๆ ต่างหากจากธาตุดิน แต่ก็เป็นเงาของอรรถคือให้รู้ความหมายของสิ่งที่ต้องการให้เข้าใจในขณะนั้น โดยเทียบเคียง หรือเปรียบเทียบ ได้แก่ทำอาการ มีสัณฐานเป็นต้น ให้เป็นเหตุกล่าวกัน เข้าใจกัน เรียกร้องกัน ให้รู้ความหมายกัน
ธาตุดินมี แต่ถ้วย จาน ชามทั้งหมดเป็นบัญญัติ เพื่อให้รู้ในอรรถของสัณฐาน ซึ่งเหมือนเงาของปรมัตถ์ เพราะเหตุว่าเป็นสัณฐานที่ทำให้สามารถรู้ว่าหมายถึงสิ่งใด