สัตว์นี้พึงเห็นรูปที่มาสู่คลองด้วยจักขุ


    ในพระบาลีนี้ มีคำ ปริกัป ดังนี้ว่า ถ้ารูปนั้นพึงมาสู่คลองแห่งจักขุไซร้ สัตว์นี้ก็พึงเห็นรูปนั้นด้วยจักขุ

    ไม่มีใครจะบังคับว่า ไม่ให้เห็นสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าทางตา ที่กระทบกับจักขุปสาท เวลาที่ฟ้าแลบ ไม่ได้มีใครตั้งใจ หรือว่ารู้ล่วงหน้าก่อนว่า ฟ้าจะแลบขณะใด แต่กระนั้นถ้ารูปนั้นมาสู่คลองแห่งจักขุ คือ กระทบกับจักขุปสาทเมื่อไร ก็มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้น หรือว่าถ้าต้องการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็หันจักขุปสาทไปสู่สิ่งนั้น ก็ย่อมจะมีการเห็นสิ่งนั้น เพราะเหตุว่ารูปนั้นกระทบกับจักขุปสาท

    นี่เป็นสิ่งที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าจักขุปสาทเป็นรูปที่กระทบกับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เมื่อมาสู่คลองแห่งจักขุ คือ อยู่เฉพาะหน้า หรือว่ากระทบกับจักขุปสาท ก็จะต้องมีการเห็น

    นี้เรียกว่า “จักขุ” บ้าง ด้วยอรรถว่า บัญชาการเห็น

    หมายความว่า ถ้าไม่มีจักขุแล้ว ไม่สามารถที่จะมีการเห็นได้

    นี้เรียกว่า “จักขายตนะ” บ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นถิ่นที่เกิด และเป็นที่ประชุมแห่งธรรม มีผัสสะ เป็นต้น

    ที่เป็นจักขายตนะ เพราะจักขุวิญญาณที่ทำกิจเห็น ไม่ได้เกิดที่อื่น แต่เกิดที่จักขุปสาทในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    โดยชื่อ โดยพยัญชนะไม่สงสัยเลย เข้าใจลักษณะของจักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพเห็น หรือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดพร้อมกับเจตสิก ๗ ดวง แล้วก็ดับที่จักขุปสาทในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ แต่ว่าลักษณะจริงๆของจักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังเห็น

    นี่ค่ะ เป็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ของการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของทวาร ทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ เพื่อที่จะให้รู้ลักษณะสภาพของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ในขณะที่กำลังเห็นที่จักขุปสาท มิฉะนั้นแล้วก็จะปนกับทางใจทันที ใช่ไหมคะ เห็นคน ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ปรากฏที่จักขุปสาท และจักขุวิญญาณเห็นที่จักขุปสาท เพราะฉะนั้นจึงไม่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพเห็น หรือสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    แต่เวลาที่ไม่รู้อย่างนี้ ไม่ได้ศึกษาอย่างนี้ เรื่องของ “ทวาร” ทางรู้อารมณ์ของจิตโดยละเอียด จะไม่รู้เลยว่า จิตเกิดดับสืบต่อทางจักขุทวาร เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นรูปารมณ์ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อ แล้วจิตทางมโนทวารก็เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางจักขุทวาร สืบต่อจากทางจักขุทวาร

    นี่เป็นการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะได้ทราบประโยชน์ของการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของทวารโดยละเอียด เพื่อไม่ให้ปะปนกันระหว่างจักขุทวารและมโนทวาร โสตทวารและมโนทวาร ฆานทวารในขณะที่กลิ่นปรากฏและมโนทวาร ซึ่งเกิดสืบต่อ ชิวหาทวาร ในขณะที่รสปรากฏและมโนทวารซึ่งเกิดสืบต่อ หรือทางกาย ที่กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ทางกายทวาร ดับไปแล้ว ทางมโนทวารเกิดสืบต่อ

    ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด ก็จะไม่รู้ว่า ทวารแต่ละทวารย่อมกระทำกิจต่างๆกัน


    หมายเลข 7541
    21 ส.ค. 2558