ทำอย่างไรจึงจะไม่เห็นภาพต่างๆ ในขณะหลับตาทำอานาปานสติ


    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวว่า จักขุวิญญาณกระทบกับรูปารมณ์ จึงจะเกิดการเห็น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่กำลังเห็นค่ะ

    ผู้ฟัง ขณะที่ทำสติปัฏฐานระลึกรู้ถึงสภาพปรากฏในขณะนั้นว่า ลมหายใจเข้าออกทางจมูก ทั้งที่เราหลับตาก็เห็นสี หรือภาพนิมิตอะไรต่างๆการเห็นเช่นนี้จะเป็นเรื่องของจักขุวิญญาณได้หรือไม่ เพราะตาหลับเมื่อตาหลับแล้ว จักขุวิญญาณไม่ได้กระทบกับรูปารมณ์ ภาพที่เกิดเช่นนี้ เป็นจิตเห็นหรืออะไรกันครับ

    ท่านอาจารย์ เวลาฝัน ซึ่งฝันกันทุกคนทุกคืน เป็นจักขุวิญญาณที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องนั้น ควรที่จะได้เข้าใจตามปกติ เพราะว่าปกติไม่ได้ทำสมาธิ กำหนดลมหายใจ ไม่ได้มีการเห็นสิ่งต่างๆพิเศษแปลกไปจากปกติใช่ไหมคะ ควรที่จะได้พูดถึงชีวิตปกติประจำวันว่า ในขณะที่กำลังเห็นอย่างในขณะนี้ กับในขณะที่กำลังฝันเห็นสิ่งต่างๆ เพราะว่าทุกคนก็ฝันกันทุกคืน ในขณะที่กำลังฝันอย่างนั้น เป็นจักขุวิญญาณที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จักขุมันหลับไปแล้วนี่ จะเห็นยังไง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทราบเลยว่า ความฝันทั้งหมด คือ การคิดนึกถึงสิ่งต่างๆซึ่งเห็นทางตา ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น และกระทบสัมผัสทางกาย ที่ผ่านมาแล้วในวันหนึ่งๆ แต่เพราะเยื่อใยที่ยังไม่หมด ไม่เคยมีใครหมดเยื่อใยในสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยได้เห็นแล้ว เพราะเหตุว่าถึงเห็นแล้วก็ยังคิดถึงอีก ในวันหนึ่งๆ คิดถึงสิ่งต่างๆมากมาย แม้ว่ากำลังนั่ง แล้วเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ใจคิดถึงเรื่องอื่น

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า การเห็นภาพต่างๆ ในขณะที่ทำสติปัฏฐานนั้น เป็นสิ่งที่ยกยอดมาจากการเห็นประจำวันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดจากการสะสมของจิต ซึ่งประสบพบเห็นสิ่งต่างๆทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และเจตสิกต่างๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งให้จิตต่อๆไปเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง สิ่งต่างๆเหล่านี้ ทำอย่างไรจึงจะหายไปได้ หายจากภาพที่เห็นไปได้

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ไม่เห็นแล้วนี่คะ เวลานี้ไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่เห็นสิ่งนั้นแล้ว เพราะกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ที่ผมเรียนถามอาจารย์ หมายความว่า สีต่างๆที่ปรากฏในขณะที่เราหลับตาทำสติปัฏฐานระลึก

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ นั่นไม่ใช่ทำสติปัฏฐานแน่ค่ะ

    ผู้ฟัง ทำอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ ทำอะไรล่ะคะ ที่มีอะไรปรากฏ ซึ่งไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้

    ผู้ฟัง ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก ที่ผ่านจมูก ผ่านเพดานไป

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษค่ะ เวลานี้ทางตากำลังเห็น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางหูกำลังได้ยิน สติปัฏฐานคืออย่างไร

    ผู้ฟัง ที่ผมถามอาจารย์ หมายถึงในขณะที่หลับตา

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องหลับค่ะ ถ้าจะเข้าใจสติปัฏฐาน ก็ในขณะที่กำลังเห็นสติปัฏฐานคืออย่างไร

    ผู้ฟัง ทำได้ทั้ง ๒ วิธี ใช่ไหม ที่อาจารย์เคยบอกว่า สติปัฏฐานนี้กำหนดลมหายใจเข้าออกทางจมูก

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานมีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สติปัฏฐานไม่มีการเจาะจง ไม่มีการเลือก แต่ว่าขณะใดที่สติเกิดเพราะฟังเรื่องสติปัฏฐาน จนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ให้สติระลึกได้ รู้ว่าขณะนี้กำลังมีสภาพธรรมกำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเลือกเลยค่ะ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ไม่ได้บอกให้ไปทำอานาปาอะไร ต้องเข้าใจอย่างนี้ซิคะ

    ผู้ฟัง ผมอยากจะเรียนถามการกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่ระลึกรู้ว่า ลมกระทบจมูก หรือเพดานก็ตาม เป็นอานาปานสติ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เช่นนั้นหรือ ที่ผมเรียนถาม คือ ผมไม่ทราบข้อแตกต่าง การกำหนดลมหายใจเข้าออก

    ท่านอาจารย์ กรุณาฟังอีกครั้งหนึ่งนะคะ กำลังเห็น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางตา เข้าใจดีหรือยัง

    ผู้ฟัง เข้าใจครับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจนะคะ ทางหู กำลังได้ยิน สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางจมูก กำลังได้กลิ่น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางลิ้นที่กำลังรับประทานอาหารเช้าบ้าง กลางวันบ้าง เย็นบ้าง สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางกายที่กำลังมีการกระทบสัมผัสขณะหนึ่งขณะใด สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางใจ ที่กำลังคิดนึกหลังจากที่ได้ยินแล้วในขณะนี้ สติปัฏฐานคืออย่างไร

    ถ้าเข้าใจดีแล้วนะคะ ก็จะไม่พูดเรื่องลมหายใจ เพราะอะไรคะ ทำไมจึงไม่พูดเรื่องลมหายใจ ทราบไหมคะว่า เพราะอะไร เพราะลมที่ปรากฏที่จมูก ก็เป็นเพียงลม เช่นเดียวกับลมอื่นที่ปรากฏที่กายที่อื่น ไม่ว่าจะกระทบส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรม ซึ่งมีลักษณะเย็น หรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้นไม่มีการมุ่งเจาะจงกำหนดลมหายใจ แต่ถ้าลมหายใจจะเกิดขึ้นปรากฏ ขณะนั้นสติจะระลึกรู้ ก็ไม่ต่างกับลมที่กระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของกายในขณะนี้ ทุกท่านอาจจะมีการกระทบลมที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย หรือว่าอาจจะมีลมหายใจปรากฏกระทบช่องจมูก ก็เป็นเพียงรูปชนิดหนึ่ง ก็ไม่ต้องไปเจาะจงอะไร ที่จะให้เกิดเห็นอะไรขึ้นมา นั่นจึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง คือการกำหนดอย่างว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเจาะจง มันเกิดขึ้นเอง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีนี่คะ ขณะนี้มีไหมคะ

    ผู้ฟัง หมายความถึงขณะที่หลับตา

    ท่านอาจารย์ หลับตาซิคะ มีไหมเดี๋ยวนี้ หลับตาเดี๋ยวนี้ค่ะ

    ผู้ฟัง พูดถึงขณะที่เจริญครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ระลึกซิคะ ระลึกรูปธรรมดา ถ้าเป็นสติปัฏฐานจริงๆ มีแต่ของจริงที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร ตามความเป็นจริง คือ ทางตา สีสันวรรณะกำลังปรากฏ ทางหู เสียงกำลังปรากฏ ทางจมูก กลิ่นกำลังปรากฏ ทางลิ้น รสกำลังปรากฏ ทางกาย โผฏฐัพพะ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว กำลังปรากฏ ไม่ต้องตื่นเต้น หวั่นไหวกับลมหายใจอะไรเลย เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงรูปซึ่งกระทบกับกาย กระทบกับกายปสาทเท่านั้น

    ผู้ฟัง รูปกระทบกาย จะถือว่าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม ที่ผมเรียนถามเพราะผมไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ จะทำสมาธิ หรือจะอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง อบรมเจริญปัญญาครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอบรมเจริญปัญญา ปัญญาจะค่อยๆเกิดขึ้นจากการฟัง เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เข้าใจ อย่าทำอะไรเป็นอันขาด เพราะเหตุว่าต้องทำผิด ในเมื่อยังไม่มีความเข้าใจแล้ว ถ้าทำอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ทำด้วยความไม่รู้ ก็ทำผิด เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และรู้ว่าขณะใดสติเกิด และขณะใดหลงลืมสติ และรู้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เป็นของจริงในขณะนี้ ถ้าหลับตาในขณะนี้ และสัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นของจริงตามปกติ นั่นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน

    ถ้าไม่ใช่ของจริงตามปกติ ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องรู้ของจริงที่กำลังปรากฏ คราวหน้ายังจะมีลมหายใจอีกไหมคะ

    ผู้ฟัง ...(ไม่ได้ยิน)

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทำให้สติระลึกค่ะ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด แล้วก็ไม่อยากจะเห็นสิ่งต่างๆเหล่านั้น ใช่ไหมคะ ถึงได้ถามว่าทำอย่างไรจึงจะหายไป ก็ไม่ต้องไปทำอย่างที่เคยทำ เพราะว่าทำแล้วก็เกิด ไม่ต้องทำก็ไม่เกิด แต่ว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ จะไม่มีสติที่ผิดปกติเกิดขึ้น


    หมายเลข 7543
    21 ส.ค. 2558