ตาเปรียบเหมือนงู
ขอกล่าวถึงคำอุปมาเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้ทราบถึงชีวิตในวันหนึ่งๆว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าอย่างไร
“ตา” เปรียบเหมือน “งู”
คงจะเคยได้ยินคำนี้บ่อยๆ ข้อความในอรรถกถามีว่า
“งู” ย่อมไม่ชอบอยู่ในที่ๆชื้นแฉะและราบเรียบในภายนอก แต่เวลาที่เลื้อยเข้าไปยังที่เป็นกองหยากเยื่อที่รกไปด้วยหญ้า ใบไม้ และจอมปลวกเท่านั้น แล้วนอน ย่อมชอบใจ ย่อมถึงความสงบฉันใด แม้จักขุนี้ก็เหมือนฉันนั้นทีเดียว พอใจในที่ๆไม่ราบเรียบ ย่อมไม่ชอบใจในที่ๆเกลี้ยงเกลา มีฝาทองคำ เป็นต้น ไม่ปรารถนาแม้เพื่อที่จะแลดูทีเดียว แต่ในที่ๆพราวไปด้วยรูป และพราวไปด้วยดอกไม้และเครือเถา เป็นต้นทีเดียวย่อมชอบ เพราะสถานที่เช่นนั้น คนเราเมื่อดวงตายังไม่พอ ยังแถมแม้อ้าปาก อยากจะมองดู
ที่อุปมาว่าตาเหมือนงูนี่นะคะ เพราะเหตุว่าไม่ชอบที่เรียบๆ จริงไหมคะ แต่ชอบที่ๆพราวไปด้วยรูปและพราวไปด้วยดอกไม้และเครือเถา มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีจิตรกรรม เพราะว่าโล่งไปหมด ใช่ไหมคะ แต่โล่งไปหมดนี้ไม่ชอบ ต้องมีลวดลาย ต้องมีสัณฐาน ให้เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ สนใจที่จะดู นั่นคือลักษณะของตา หรือจิตซึ่งเกิดขึ้นเห็นสิ่งต่างๆ แล้วพอใจในรูปร่างสัณฐานต่างๆ ในที่ๆพราวไปด้วยสัณฐานต่างๆ
เป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ ในชีวิตประจำวัน ท่านดูอะไร ลองคิดดูค่ะ หรือว่าไปดูอะไร หรือมีอะไรให้ดูบ้าง สิ่งที่จะให้ดู ไม่ใช่เป็นพื้นโล่งๆ แต่จะต้องมีลวดลาย มีสัณฐาน พราวไปด้วยสิ่งต่างๆ ให้ทราบลักษณะของจักขุ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำในวันหนึ่งๆ ว่า นี่เป็นอาการของจักขุ