ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร
ท่านอาจารย์ ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกหรือเปล่าคะ
อรรถ คือ ลักษณะของจิตประการที่ ๔ ตามข้อความในจิตตุปปาทกัณฑ์ ในอรรถกถา อัฏฐสาลินี มีข้อความว่า
ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติที่วิจิตรตามสมควร
มีข้อความต่อไปว่า
ในคำว่า “จิตตํ” นั้น เพราะเหตุที่จิตมีราคะ คือ โลภะ ความยินดี ความต้องการ ก็อย่างหนึ่ง มีโทสะ ก็อย่างหนึ่ง มีโมหะ ก็อย่างหนึ่ง
นี่โดย “เหตุ” นะคะ
เป็นกามาวจร ก็อย่างหนึ่ง จิตต่างกันโดยรูปาวรจิต เป็นต้น ก็อย่างหนึ่ง
นี่ก็โดยนัยของ “ภูมิ”
จิตมีรูปเป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง จิตมีเสียงเป็นอารมณ์ เป็นต้น ก็อีกอย่างหนึ่ง
นี่โดยโดยนัยของ “ทวาร” หรือโดยนัยของ “อารมณ์”
แม้ในจิตมีรูปเป็นอารมณ์ จิตมีสีเขียวเป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง มีสีเหลือง เป็นต้น เป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง
นี่ก็แสดงถึงการเกิดขึ้นและดับไป สืบต่อกันอย่างรวดเร็วของจิต
แม้ในจิตมีเสียงเป็นอารมณ์ เป็นอาทิ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน
ในจิตแม้เหล่านั้น แม้ทุกดวง ที่เป็นจิตขั้นต่ำ ก็อย่างหนึ่ง ที่เป็นจิตขั้นกลาง ก็อย่างหนึ่ง ที่เป็นจิตขั้นประณีต ก็อย่างหนึ่ง
แม้ในจิตเหล่านั้น จิตที่มีฉันทะเป็นอธิบดี ก็อย่างหนึ่ง จิตที่มีวิริยะเป็นอธิบดี ก็อย่างหนึ่ง จิตที่มีจิตตะเป็นอธิบดี ก็อย่างหนึ่ง จิตที่มีวิมังสาเป็นอธิบดี ก็อย่างหนึ่ง
ข้อความในอรรถกถาเป็นการประมวลข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งหมายความว่า ท่านเหล่านั้นท่านรู้ข้อความในพระไตรปิฎกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงกล่าวถึงลักษณะของจิต โดยนัยต่างๆ เช่น โดยนัยของอธิบดี ๔ ซึ่งได้แก่ ฉันทะ ๑ วิริยะ ๑ จิตตะ ๑ วิมังสา คือ ปัญญา ๑ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้นะคะ
ฉะนั้น พึงทราบความที่จิตนั้นวิจิตรด้วยอำนาจสัมปยุตตธรรม ภูมิ อารมณ์ เหล่านี้เป็นต้น