จิตเหมือนช่างย้อมหรือช่างเขียน
ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่างเขียน เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดานเกลี้ยงเกลา หรือที่ฝา หรือที่แผ่นผ้า แม้ฉันใด.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังรูปนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังเวทนานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสัญญานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสังขารนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังวิญญาณนั่นแหละให้เกิด.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า
พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
จบ สูตรที่ ๘
ถ้าท่านผู้ฟังเห็นช่างเขียนรูป กำลังเขียนรูปจากสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย แต่อาศัยสีต่างๆ กระทำให้วิจิตรเกิดขึ้น เป็นรูปต่างๆ ฉันใด ขณะนี้จิตของท่านผู้ฟังเหมือนกับช่างเขียน ซึ่งกำลังจะเขียนรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งจะเกิดต่อไปในอนาคต
ขณะนี้ทุกท่านต่างกันตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะความวิจิตรซึ่งเกิดขึ้นเนิ่นนานมาแล้ว ฉันใด จิตซึ่งกำลังวิจิตรในขณะนี้ ก็กำลังกระทำให้วิจิตร ซึ่งจะเป็นคติ จะเป็นเพศ จะเป็นรูปร่างสัณฐาน จะเป็นการได้ลาภ หรือเสื่อมลาภ ได้ยศ หรือเสื่อมยศ ได้สุข หรือทุกข์ นินทา หรือสรรเสริญในกาลข้างหน้า
ด้วยเหตุนี้จึงควรพิจารณาลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ ซึ่งกำลังเขียนสิ่งซึ่งจะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ ย่อมจะไม่ทราบเลยว่า วิจิตรจริงๆ ทั้งๆ ที่กำลังนั่งอยู่นี้ จิตเกิดดับสืบต่อรวดเร็วเหลือเกิน นั่งอยู่ที่นี่ แต่บางครั้ง นอกจากจิตจะเห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู ก็ยังมีจิตคิดนึกไกลออกไป แล้วแต่ว่าจะท่องเที่ยวไปที่ไหนบ้าง หรือว่ากำลังจะกระทำอะไรให้วิจิตรเกิดขึ้น