อุปาทานขันธ์ ๕ - สามัญญลักษณะ - สภาวะลักษณะ
ข้อความในสารัตถปกาสินี อธิบายว่า
คำว่า “เกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕” ความว่า เมื่อกำหนดอุปาทานขันธ์ ๕ ก็แยกแสดงโดยประการต่างๆ ด้วยสามารถแห่งสภาวะลักษณะและสามัญลักษณะ
ในที่นี้มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ สภาวะลักษณะ ๑ และสามัญลักษณะ ๑
สามัญลักษณะ หมายความถึงลักษณะที่สาธารณะทั่วไปกับสภาพธรรมทั้งปวง เช่น ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเจตสิก หรือเป็นรูป ซึ่งเป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นแล้วดับไป นั่นเป็นสามัญลักษณะ ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆทั้งนั้น จะเป็นจิต หรือเจตสิก หรือจะเป็นรูปซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป นี่เป็นสามัญลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย
แต่สภาวะลักษณะของจิตต่างกับสภาวะลักษณะของเจตสิกแต่ละเจตสิก และต่างกับสภาวะลักษณะของรูปแต่ละรูป
เพราะฉะนั้น “สภาวะลักษณะ” หมายความถึง ลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ สามัญลักษณะ หมายความถึง ลักษณะทั่วไปของสภาพธรรมทั้งปวงที่เป็นสังขารธรรมด้วยกัน ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา