อารมณ์ที่รู้ได้ทางใจส่วนใหญ่เป็นบัญญัติ
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน อารมณ์ที่เรารู้ได้ทางใจส่วนใหญ่ก็คือบัญญัติจากการศึกษา เพราะว่าเราจะรู้เป็นเรื่องราวไปทั้งหมดเลย แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะรู้ลักษณะของปรมัตถ์ หรืออารมณ์ทางใจที่เป็นปรมัตถ์
ท่านอาจารย์ เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด เพราะอารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น รูป ๑๗ ขณะก็ดับเลย เพราะฉะนั้นเพียงสติระลึก ก็ดับแล้ว
ผู้ฟัง ดังนั้นอกุศลจิตที่เราพอจะสังเกตได้ในชีวิตประจำวัน เราจะรู้อารมณ์ของอกุศลจิตก็คือบัญญัติทั้งนั้น เพราะเราจะไม่รู้สภาพแท้จริง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด
ผู้ฟัง แม้เรามาศึกษาอย่างนี้ เราเข้าใจว่าธัมมารมณ์มีทั้งปรมัตถธรรม และบัญญัติ แต่จริงๆ สภาพธรรมในชีวิตประจำวันเราก็จะรู้ได้แต่เพียงบัญญัติเท่านั้นตราบใดที่สติไม่เกิดใช่ไหม
ท่านอาจารย์ และเราก็รู้โดยการศึกษาว่าหลังจากที่รูปนั้นดับทางปัญจทวาร และมโนทวารก็มีรูปที่ปรากฏทางแต่ละทวารในปัญจทวารนั้นสืบต่อ
ผู้ฟัง แต่รูปที่เราระลึกได้ทางมโนทวารจริงๆ แล้วก็คือความคิดนึกว่ารูปนั้นเป็นชื่ออะไร
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ไม่มีชื่อ ขณะนี้จากปัญจทวารไปถึงมโนทวารโดยมีภวังค์คั่นอย่างเร็วที่สุด ไม่มีความต่าง ยุคสมัยก็คงทำให้เข้าใจได้ในเรื่องของการถ่ายเอกสารหรือการอัดสำเนาเหมือนกันเลยได้ไหม คมมากจนเกือบจะบอกไม่ได้เลยว่าอันไหนเป็นตัวจริงอันไหนเป็นสำเนา ทางปัญจทวารเป็นตัวจริง นี่เป็นแต่เพียงคำเปรียบเทียบสำหรับยุคสมัย ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนเราก็ไม่ต้องเปรียบเทียบแบบนี้ แต่เราสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าทางใจขณะนี้เองไม่ปรากฏว่ารูปทางตาดับ แสดงว่าต้องผ่านภวังค์ที่ไม่รู้อะไรเลยแล้วทางมโนทวารก็มีรูปนั้นต่อแนบแน่นรวดเร็วแค่ไหนที่ไม่เหมือนกับว่าดับไปเลย เพราะฉะนั้นจะไม่มีความต่างของรูปที่ปรากฏทางปัญจทวาร และทางมโนทวารที่เป็นปรมัตถ์ แต่ไม่ต้องคิดมากเลย ก็เป็นเรื่องที่ว่าผู้ที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโดยละเอียดตามความเป็นจริงซึ่งปัญญาของผู้ที่ฟังก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็รู้ว่าขณะไหนสติสัมปชัญญะเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ เมื่อนั้นก็จะรู้ความต่างกันของบัญญัติกับปรมัตถ์
ที่มา ...