สติปัฏฐานรู้อารมณ์ทางใจคือความโกรธได้หรือไม่


    ผู้ฟัง กล่าวถึงอารมณ์ทางใจ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ถ้าเรามีโทสะโกรธขึ้นมา เมื่อโทสะนั้นเพิ่งดับไป สติปัฏฐานเกิดสามารถจะรู้อารมณ์ความโกรธได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้พูดตามใช่ไหม จิต เจตสิกเกิดแล้วก็ดับ โทสะเกิดแล้วก็ดับ แล้วมโนทวารก็รู้จิต เจตสิกได้เพราะว่าเป็นธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะอบรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงของตนเอง ไม่ใช่ตามคำที่ได้ยินได้ฟังมา ก็ต้องเริ่มจากการที่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่ไม่หลงลืมเลย ทำให้สติสัมปชัญญะเกิดแล้วก็รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งสติกำลังรู้หรือจะใช้คำว่า “ระลึก” หรือจะใช้คำว่า “รู้ตรงนั้น” ก็ได้ คือไม่ไปติดอยู่ที่คำ มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ อย่างที่เคยกล่าวถึง ที่พอจะเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น วันหนึ่งๆ กระทบแข็งบ่อยๆ แต่ไม่เคยใส่ใจเลยก็คิดว่านั่นเป็นช้อน นี่เป็นส้อม นี่เป็นไมโครโฟนไปเลย แต่จริงๆ แล้วถ้าฟังก็รู้ว่าขณะที่ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏทางกาย ขณะที่หลงลืมสติคือสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป โดยที่ไม่มีความรู้ในลักษณะของแข็ง หรือลักษณะของร้อน หรือของเย็น ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งลักษณะนี้จะปรากฏในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว และสติสัมปชัญญะเกิดก็จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และไม่เคยขาดเลยในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่มีการคิดว่านั่นดับแล้วนี่เกิดต่อหรืออะไรอย่างนั้น แต่สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็เป็นปกติ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น แข็งก็เพียงชั่วขณะหนึ่ง ก็มีเห็น หลงลืมสติ ไม่ได้รู้ตรงเห็น หลงลืมสติเวลาเสียงปรากฏ ก็แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดทีละเล็กทีละน้อย และก็รู้ว่าขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด

    แต่ก็จะมีผู้ที่ใจร้อนว่า ระลึกแล้วก็ไม่เห็นรู้อะไร ระลึกกี่ครั้ง และที่ไม่ระลึกอีกเท่าไหร่ แล้วเพิ่งเริ่มที่จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด แบบนี้ต้องมีแน่นอนเพราะว่าต่างกัน เพียงรู้ขณะนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ในลักษณะของสติ ซึ่งขณะนั้นกำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นความรู้จะทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจโดยที่ว่าต้องเป็นผู้ที่อดทน แล้วก็จะเข้าใจพยัญชนะที่พระผู้ทีพระภาคตรัสว่า “ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง” ไม่มีอะไรจะอดทนเท่ากับการอบรมเจริญปัญญาที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยรู้ว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะระลึกจึงรู้ในลักษณะซึ่งไม่ใช่ไปคิด เช่น แข็งไม่ได้ไปคิดเลย กำลังปรากฏตรงไหนรู้ตรงนั้น ไม่ได้ผ่านไปเหมือนตามปกติธรรมดา ก็รู้ว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะรู้ตรงแข็ง และมีการเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นสภาพลักษณะหนึ่ง มีจริงๆ กำลังปรากฏให้รู้ว่าเป็นลักษณะของจริงแต่ละอย่างๆ เพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะยาวนานไหมกว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แต่เป็นความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงแล้วก็กำลังปรากฏจริงๆ และก็รู้ว่าขณะนั้นที่กำลังเข้าใจก็คือสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เรา

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 99


    หมายเลข 7601
    22 ม.ค. 2567